PTT Group Sharings
11 ตุลาคม 2564

โฟมดับเพลิง อาวุธของเหล่าฮีโร่

จากเหตุไฟไหม้โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกย่านกิ่งแก้วเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นับเป็นเหตุอัคคีภัยที่ร้ายแรงที่สุดในรอบหลายปีของประเทศไทย สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงมากกว่า 423 ล้านบาท และต้องใช้เวลาในการควบคุมเพลิงเกินกว่า 24 ชั่วโมง เนื่องจากเชื้อเพลิงหลักเป็นสารเคมีสไตรีนโมโนเมอร์ซึ่งติดไฟง่ายแต่ดับได้ยาก และยังไม่สามารถใช้น้ำดับได้ จําเป็นต้องดับด้วยโฟมดับเพลิง

แล้วโฟมดับเพลิงคืออะไร?

โฟมดับเพลิงเป็นโฟมความหนาแน่นต่ำ (ต่ำกว่าน้ำและน้ำมัน) มีกลไกหลักในการดับไฟ คือ แผ่คลุมพื้นผิวของสารเคมีที่ไหม้อยู่ ทําให้ออกซิเจนผ่านเข้าไปไม่ได้ ไฟก็จะดับลง เนื่องจากการลุกไหม้จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีองค์ประกอบหลัก 3 อย่าง ได้แก่ เชื้อเพลิง ความร้อน และ ออกซิเจน โดยการเผาไหม้จะต้องการออกซิเจนในอากาศอย่างน้อยประมาณ 16% (ในอากาศปกติมีออกซิเจนประมาณ 21%) ยกเว้นว่าในแหล่งเชื้อเพลิงมีออกซิเจนในตัวเอง อยู่แล้ว นอกจากนี้โฟมดับเพลิงยังมีหนึ่งในองค์ประกอบหลักเป็นน้ำ ทําให้ลดอุณหภูมิเชื้อเพลิงลงได้

โฟมดับเพลิงมีหลากหลายสูตรให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมต่อสถานการณ์ ตัวอย่างเช่น หากลักษณะของต้นเพลิงเป็นกลุ่มสารละลายมีขั้วหรือแอลกอฮอล์ หากใช้โฟมสูตรมาตรฐาน น้ำในเนื้อโฟมจะผสมแอลกอฮอล์ และทําให้เนื้อแผ่นโฟมยุบตัวลง เกิดช่องโหว่ที่ออกซิเจนผ่านเข้าไปได้ จึงต้องใช้โฟมสูตรเฉพาะที่มีการผสมสารป้องกันการยุบตัวของโฟมเมื่อเจอแอลกอฮอล์ (AR-AFFF: Alcohol Resistant-Aqueous Film Forming Foam) ดังนั้น โรงงานหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่เฝ้าระวังและควบคุมเพลิงจึงต้องเตรียมโฟมดับเพลิงชนิดที่ครอบคลุมลักษณะเพลิงไหม้ที่อาจจะเกิดในความดูแลของตนไว้ให้ครบถ้วน และเลือกใช้งานให้ถูกต้อง

โดยทั่วไป โฟมดับเพลิงจากโรงงานผู้ผลิตจะอยู่ในรูปแบบสารเข้มข้น เมื่อจะใช้งานต้องนํามาผสมน้ำตามสัดส่วนที่กําหนด จะได้เป็นสารละลายโฟม และเมื่อฉีดผ่านหัวฉีดโฟมเพื่อผสมกับอากาศ จึงจะเกิดเป็นเนื้อโฟมพร้อมใช้งาน

ในเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกย่านกิ่งแก้วเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กลุ่มปตท. ได้สนับสนุนโฟมดับเพลิงกว่า 7,000 ลิตร จากสายระบบส่งท่อก๊าซ จากบริษัท ปตท. น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR และจาก EMAG (Emergency Mutual Aid Group) ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินกลุ่มโรงงานนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่มาบตาพุดและใกล้เคียง และได้ส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ จากบริษัท เอ็นพีซีเซฟตี้แอนด์เอ็นไวรอนเมนทอลเซอร์วิส จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จํากัด (มหาชน) ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการดับเพลิง กู้ภัย และระงับเหตุฉุกเฉิน เข้าไปร่วมปฏิบัติการดับเพลิงและให้คําปรึกษาในที่เกิดเหตุ พร้อมรถดับเพลิง อุปกรณ์หัวฉีดน้ำดับเพลิงแบบ Fix Monitor และหุ่นยนต์ดับเพลิง โดยทีมงานจาก ปตท. เข้าถึงพื้นที่ตั้งแต่ช่วง 14.00 น. ของวันที่ 5 ก.ค. 64 ถึงเวลาประมาณ 5.00 น. ของวันที่ 6 ก.ค. 64 หลังจากควบคุมสถานการณ์ได้แล้วจึงถอนกําลังออก

หลังจากไฟสงบแล้ว ทาง ปตท. ยังได้ป้องกันไม่ให้สารสไตรีนโมโนเมอร์ติดไฟกลับขึ้นมาอีกด้วยการใช้สารเคมีป้องกันการเกิดปฏิกิริยา F-500 Encapsulator จำนวน 10,000 ลิตร สําหรับสารเคมีที่อยู่นอกบ่อ และ DEHA จำนวน 600 ลิตร สําหรับสารเคมีที่อยู่ในบ่อ นอกจากนี้ยังได้มอบสิ่งของจําเป็นสําหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบต้องอพยพออกจากพื้นที่ผ่าน อบต.บางพลีใหญ่ เช่น หน้ากากอนามัย ผ้าห่ม เป็นต้น

อ้างอิง
https://www.thaipost.net/main/detail/109534
https://www.chemguard.com/about-us/documents-library/foam-info/general.htm
http://www.safetylifethailand.com/download/Article2135.pdf
https://www.bbc.com/thai/thailand-57723752
https://www.thansettakij.com/business/488233
https://www.npc-se.co.th/aboutus.html

หัวข้อที่น่าสนใจ