“นาฬิกาชีวิต” เลือกเวลานอนผิด ชีวิตเสี่ยงโรค
ยุค New Normal ทำให้การทำงานจากที่บ้านกลายเป็นเรื่องปกติ จนเป็นกิจวัตรหลักของหลายๆ คนไปแล้ว ผลลัพธ์อีกด้านหนึ่ง คือ การทำลายข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ในการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งการทำงาน การเรียน การบริโภค การจับจ่ายซื้อของ รวมไปถึงการพักผ่อน และการใช้เวลาอยู่กับงานหรือกิจกรรมบางอย่างมากจนเกินไป จนทำให้เวลานอนดึกขึ้นหรือไม่เป็นเวลา ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด เพราะร่างกายของเราเป็นเหมือนระบบฟันเฟืองเครื่องกลที่ทำงานสัมพันธ์กันตลอดเวลาแม้ในขณะที่เราหลับ การใช้ชีวิติอย่างไม่ถูกต้องตาม “นาฬิกาชีวิต” ทำให้ฮอร์โมนและระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างไม่เต็มที่ อาจสร้างปัญหาสุขภาพตามมาแบบเป็นลูกโซ่
จากข้อมูลของรพ.เปาโล พบว่าคนไข้ที่ทำงานเวลากลางคืนระยะยาว เมื่อแก่ตัวจะมีอัตราพบโรคมะเร็ง โรคหัวใจ หลอดเลือดในสมองมากกว่าคนที่นอนปกติ และก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นในผู้หญิง
นาฬิกาชีวิต เป็นแนวคิดที่อธิบายการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกายที่ทำงานได้ดีตามช่วงเวลาต่างๆ ตลอด 24 ชั่วโมง ดังนี้
- 01.00 - 03.00 น. ช่วงเวลาของตับ ที่มีหน้าที่สร้างน้ำดีเพื่อย่อยไขมัน ผลิตอินซูลินเพื่อควบคุมการเผาผลาญ โปรตีน คาร์โบไฮเดรตและไขมัน ดังนั้น ควรนอนหลับให้สนิท ให้ตับทำงานเต็มที่ หากขาดการนอนหลับในช่วงเวลานี้ จะทำให้ตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยลง และมีความเสี่ยงก่อให้เกิดโรคเบาหวาน ความดัน และโรคหัวใจ
- 03.00 - 05.00 น. ช่วงเวลาของปอด ปอดฟอกเลือดได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น ควรตื่นแต่เช้าเพื่อมาสูดอากาศบริสุทธิ์ การตื่นนอนในช่วงนี้เป็นประจำจะทำให้ปอดทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใส และดีสำหรับคนที่มีปัญหาในเรื่องระบบทางเดินหายใจ
- 05.00 - 07.00 น. ช่วงเวลาของสำไส้ใหญ่ เป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการขับถ่ายเพื่อให้ของเสียและกากอาหารถูกขับออกจากร่างกาย การขับถ่ายทุกวันเป็นประจำนอกจากจะทำให้ไม่มีปัญหาท้องผูก ยังทำให้ผิวพรรณเราเปล่งปลั่งและลดการเป็นสิว แนะนำให้ดื่มน้ำสะอาดหลังตื่นนอนจะเป็นการกระตุ้นลำไส้และช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น
- 07.00 - 09.00 น. ช่วงเวลาของกระเพาะอาหาร ในการย่อยอาหารต่างๆ ได้ดีที่สุด จึงควรเลือกทานอาหารเช้าที่มีประโยชน์เป็นการเริ่มต้นวันที่ดีกว่ากินแค่ขนมปังกับกาแฟ การกินมื้อเช้าเป็นประจำจะทำให้กระเพาะอาหารแข็งแรง ลดโอกาสในการเกิดโรคอ้วนและโรคกระเพาะ
- 09.00 - 11.00 น. ช่วงเวลาของม้ามและตับอ่อน และเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายจะตื่นตัวที่สุดหลังตื่นนอน ตับอ่อนจะนำสารอาหารที่ได้ ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ส่วนม้ามจะคอยดักจับเชื้อโรคและสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงขึ้นใหม่ ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทาน จึงไม่ควรนอนในเวลานี้เพราะจะทำให้ตับและม้ามอ่อนแอ และจะรู้สึกอ่อนเพลียตลอดทั้งวันได้
- 11.00 - 13.00 น. ช่วงเวลาของหัวใจ ในการทำงานเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ในร่างกาย จึงควรหลีกเลี่ยงเรื่องเครียด พยายามทำให้หัวใจผ่อนคลายมากที่สุด
- 13.00 – 15.00 น. ช่วงเวลาของลำไส้เล็ก ควรละเว้นการกินอาหารทุกชนิด เพื่อให้ลำไส้เล็กดูดซึมอาหารที่เป็นน้ำไปสร้างกรดอะมิโน เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้อย่างเต็มที่
- 15.00 - 17.00 น. ช่วงเวลาของกระเพาะปัสสาวะ เหมาะกับการออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมต่างๆเพื่อให้เหงื่อออก และเราไม่ควรอั้นปัสสาวะเพื่อให้ของเสียระบายออกจากร่างกายได้ดีขึ้น
- 17.00 - 19.00 น. ช่วงเวลาของไต เพราะหลังจากทานอาหารหรือดำเนินกิจวัตรประจำวันมาตลอดทั้งวัน จะทำให้ของเสียในร่างกายสูงขึ้น ดังนั้นจึงไม่ควรอยู่นิ่งๆ แต่ต้องหากิจกรรมเพื่อให้ร่างกายเคลื่อนไหว และกระตุ้นให้ไตทำงานได้ดีขึ้น เช่น ทำงานบ้าน เดินช้อปปิ้งหลังเลิกงาน หรือออกกำลังกาย
- 19.00-21.00 น. ช่วงเวลาของเยื่อหุ้มหัวใจ เป็นช่วงเวลาของการ Slow Life ทำกิจกรรมเบาๆ เตรียมตัวเข้านอน เพราะเยื่อหุ้มหัวใจมีหน้าที่สูบฉีดเลือด ถ้ากล้ามเนื้อหัวใจทำงานหนัก เสี่ยงโรคหัวใจโต สำหรับคนที่ชอบทำงานดึกๆ หรือเที่ยวกลางคืนควรระวัง
- 21.00-23.00 น. ช่วงเวลาที่ต้องทำให้ร่างกายอบอุ่น เพื่อให้การนอนหลับมีประสิทธิภาพ จึงควรทำร่างกายให้อบอุ่น ไม่ร้อนไม่หนาวจนเกินไป หากถ้าไม่ได้พักผ่อนในช่วงนี้อาจจะทำให้เป็นโรคเลือดจาง เพราะเม็ดเลือดแดงอ่อนแอ
- 23.00 - 01.00 น. ช่วงเวลาของถุงน้ำดี ควรดื่มน้ำก่อนนอน จะช่วยให้ถุงน้ำดีได้มีน้ำเก็บเอาไว้ใช้ในยามที่ร่างกายหลับ และเจือจางไม่ให้น้ำดีข้นจนเกินไปจนทำให้ไขมันตกตะกอน จนส่งผลเสีย เช่น ตื่นกลางดึก อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย ลงพุง มีถุงไขมันใต้ตา หรือขาดวิตามินในกลุ่มที่ละลายในไขมัน
แล้วถ้าหากนอนในเวลากลางวันในเวลาที่เท่ากับกลางคืน หรือปรับสภาพห้องนอนเพื่อหลอกร่างกาย จะเป็นการหลอกนาฬิกาชีวิตได้หรือไม่
คำตอบคือ “ไม่ได้” เพราะนาฬิกาในร่างกายของเรามีความสอดคล้องกับธรรมชาติ ตามพระอาทิตย์ขึ้น-พระอาทิตย์ตก ผ่านต่อมในสมองเรียกว่า ต่อมไพเนียล (Pineal Gland) ทำหน้าที่เป็นเลเซอร์วัดแสง เมื่อแสงลดลงหรือถึงเวลากลางคืนจะสร้างเมลาโทนินทำให้เรารู้สึกง่วง และต้องเข้านอน เพื่อให้ร่างกายซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ จะพบได้มากในกรณีคนที่อยู่ในประเทศเอเชียมานานหลายปี เมื่อต้องไปประเทศยุโรปแม้จะเป็นแค่ช่วงเวลาหนึ่ง ร่างกายก็จะใช้เวลาปรับตัวประมาณ 1 สัปดาห์เพื่อให้เราเข้านอนตามเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและตก ใน Time Zone นั้นๆ แทนที่จะเข้านอนตามเวลา Time Zone เดิม
ดังนั้นสำหรับใครที่ปรับตัวให้ทำงานกลางคืนและนอนกลางวันได้แล้วนั้น จะเป็นเพียงแค่ความเคยชิน แต่นาฬิกาชีวิตก็ยังคงเดินตามเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่ถ้าหากเลี่ยงไม่ได้ ก็พยายามพักผ่อนให้เพียงพอให้มากพอเท่าที่ทำได้ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะสุขภาพเป็นเหมือนบ้านที่มีแค่หลังเดียวและจะต้องอาศัยร่างกายของเรานี้ไปตลอดชีวิตเช่นกัน
อ้างอิง
https://women.trueid.net
https://www.cigna.co.th
https://www.chillpainai.com
https://www.paolohospital.com