PTT Group Sharings
07 ธันวาคม 2564

พลาสติกตัวร้าย หรือนายแสนดี

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “พลาสติก” ถูกพูดถึงในแง่การเป็นตัวร้ายทำลายสิ่งแวดล้อม จากทั้งกระบวนการผลิตที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปในอากาศทำให้โลกร้อน ทั้งเป็นขยะที่ใช้เวลานานหลายร้อยปีในการย่อยสลายส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยเฉพาะในท้องทะเลสัตว์ทะเลจำนวนมากไม่ว่าจะขนาดใหญ่อย่างวาฬหรือ นกทะเลตัวจ้อยต่างล้มตายเพราะบริโภคขยะพลาสติกที่เข้าใจผิดว่าเป็นอาหารเข้าไป หรือตกอยู่ในสภาพพิกลพิการ หลังร่างกายโดนพันธนาการด้วยขยะพลาสติก

แม้ว่าในปัจจุบันพลาสติกจะถูกมองว่าเป็นศัตรูของธรรมชาติ แต่โดยแรกเริ่ม จุดกำเนิดของถุงพลาสติกถูกคิดค้นเพื่อจุดประสงค์การรักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่า โดยวิศวกรชาวสวีเดนนามว่า Sten Gustaf Thulin ในปี ค.ศ. 1959 ได้ประดิษฐ์ถุงพลาสติกที่มีน้ำหนักเบา เนื้อเหนียวไม่เปื่อยยุ่ยเมื่อเปียกน้ำ สามารถใช้งานซ้ำได้หลายครั้งเพื่อใช้ทดแทนถุงกระดาษที่กำลังได้รับความนิยมมากในขณะนั้น จนเกิดการตัดต้นไม้จำนวนมหาศาลเพื่อมาทำถุงกระดาษให้เพียงพอต่อความต้องการ แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนั้นผิดไปจากความตั้งใจของผู้คิดค้น ถุงพลาสติกกลับถูกใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง กลายเป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ของขยะพลาสติก (ซี่งในประเทศไทยขยะถุงพลาสติกมีปริมาณมากถึง 5,300 ตัน ต่อวันคิดเป็น 80% ของขยะพลาสติกและโฟมที่มีปริมาณประมาณ 7,000 ตันต่อวัน)

แม้ว่าการผลิต การใช้งาน และการกำจัดขยะพลาสติก จะส่งผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม แต่คงต้องยอมรับว่ามนุษยชาติ ก็ขาดพลาสติกไม่ได้ ความก้าวหน้าในหลายวงการเกิดขึ้นมาได้เพราะมีวัสดุพลาสติก เช่น ม้วนฟิล์มที่ทำจากพลาสติกทำให้ เกิดการฉายภาพยนตร์ในโรง จนพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์จนถึงทุกวันนี้ ปลั๊กไฟและเต้าเสียบอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ที่เราใช้งานอยู่ทุกวันทำมาจากพลาสติก ประเภท Bakelite ที่แข็งและเป็นฉนวนไฟฟ้า แผ่นเสียงไวนิลเทปคาสเซตและแผ่นซีดีที่ เราเคยใช้ฟังเพลงล้วนทำมา จากพลาสติกในวงการแพทย์พลาสติกเป็นหนึ่งในหัวใจของการแพทย์สมัยใหม่ในการเป็นบรรจุภัณฑ์ปลอดเชื้อและ อุปกรณ์ใช้ครั้งเดียวทิ้งเพื่อป้องกันการติดเชื้อระหว่างบุคคล เราสามารถพบพลาสติกเป็นส่วนประกอบของสิ่งของเกือบ ทุกชนิดรอบตัวเรา ตั้งแต่ เสื้อผ้า บรรจุภัณฑ์อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงกระสวยอวกาศ

ในเมื่อเราไม่สามารถเลิกใช้พลาสติกได้ แล้วเราควรจะทำอย่างไรดีจึงจะลดผลเสียจากการใช้พลาสติกต่อโลกใบนี้ให้ได้มากที่สุด? คำตอบคือการพยายามนำกลับมาใช้ใหม่และใช้เท่าที่จำเป็นไม่ให้เหลือทิ้งเป็นขยะ เชื่อหรือไม่ว่า ขยะพลาสติกเพียง 9% เท่านั้นที่ได้รับการรีไซเคิล 12% ถูกกำจัดด้วยการเผาทิ้ง และ 79% ลงเอยด้วยการเป็นกองขยะทั้งบนบกและในน้ำ ซึ่งแม้ว่าผู้บริโภคจะพยายามลดการใช้พลาสติกและนำกลับมาใช้ใหม่หากขาดความร่วมมือจากทางภาครัฐและ ภาคธุรกิจก็ไม่อาจประสบความสำเร็จได้บรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบโดยไม่ได้คำนึงถึงกำจัดหลังการใช้งานเช่นพลาสติกที่ ผสมกับวัสดุอื่นหลายชนิดถุงพลาสติกแบบบาง (หนาน้อยกว่า 36 ไมครอน) พลาสติกเทอร์โมเซ็ต (เช่น เมลามีน) ขวดพลาสติกสีสันต่างๆ บรรจุภัณฑ์เหล่านี้หลังการใช้งานจะกลายเป็นขยะพลาสติกที่รีไซเคิลได้ยากหรือรีไซเคิลไม่ได้

ในปีค.ศ.2011 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมทุนกับบริษัท มิตซูบิชิ เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด จัดตั้ง บริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัด เพื่อผลิตและจำหน่ายพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ 100% ชนิด PBS (BioPBSTM) ทำจากวัตถุดิบทางการเกษตรเช่นข้าวโพดอ้อยมันสำปะหลังโดยสามารถย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ ภายในอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม สลายตัวเป็นคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ ได้รับการอนุมัติจดทะเบียนให้เป็นพลาสติกชนิดที่สัมผัสกับอาหารได้และทนความร้อน เช่นถ้วยกาแฟร้อนของ Cafe’ Amazon; Amazon Bio Cup และถังป๊อบคอร์นที่จำหน่ายในโรงหนัง อีกทั้งได้ประสานงานกับหน่วยงาน ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ กระทรวงการคลังในการออกมาตรการสนับสนุนจากรัฐเพื่อพัฒนาการผลิตในเชิงพาณิชย์ต่อไป

เราอาจยังสรุปไม่ได้ว่า พลาสติก เป็นตัวเอกหรือผู้ร้าย หรือเพียงแค่เป็นตัวละครที่ถูกเข้าใจผิด ถูกใช้ประโยชน์ และมีบทบาทที่ผันแปรไปตามสถานการณ์โลกเพียงเท่านั้น หากแต่เราทุกคน ที่จะมีส่วนในการเขียนเรื่องราว และกำหนดแนวทางให้มนุษย์และสิ่งแวดล้อม ดำเนินบทบาทอย่างสอดคล้องกันต่อไปได้อย่างยั่งยืน

อ้างอิง
https://www.independent.co.uk/climate-change/news/plastic-bags-pollution-paper-cotton-tote-bags-environment-a9159731.html
https://www.bbc.com/thai/international-44537467
http://infofile.pcd.go.th/waste/waste_plasticfoam.pdf?CFID=860273&CFTOKEN=56556082
https://www.prachachat.net/public-relations/news-791719
https://www.scg.com/sustainability/circular-economy/interesting/plastic-is-not-a-crime/
www.bangkokbiznews.com
https://biosolution.pttplc.com/bio-pbs/type-of-bioplastic.aspx
https://www.mcpp-global.com/th/asia/products-th/brand/biopbsTM
https://www.thaiplastics.org/img/content_attachment/attach/plastics_foresight_vol.8_.pdf

หัวข้อที่น่าสนใจ