5 แหล่งพลังงานแห่งโลกอนาคต
โลกของเรานั้นขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยพลังงาน ทุกวันนี้มนุษย์ไม่สามารถอยู่ได้โดยปราศจากพลังงาน ทั้งการขับเคลื่อนประเทศ เศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวันของบุคคลทั่วไป เช่น ใช้ไฟฟ้าในการใช้ชีวิตประจำวัน ใช้น้ำมันในการเดินทาง ใช้แก๊สในการทำอาหาร เป็นต้น และสิ่งที่เป็นเรื่องน่ากังวลเกี่ยวกับพลังงาน คือ การที่พลังงานกำลังจะหมดไปในอนาคต เนื่องจากพลังงานบางประเภทนั้นเราไม่สามารถทำให้จำนวน หรือ ปริมาณของมันเพิ่มขึ้นได้ เช่น พลังงานเชื้อเพลิงธรรมชาติ ก๊าซ ปิโตรเลียม ถ่านหิน และนิวเคลียร์ แน่นอนว่าเมื่อเราใช้อุปโภค และบริโภคพลังงานเหล่านั้นทุกวัน สักวันหนึ่งพลังงานเหล่านั้นก็จะหมดไป ดังนั้นจึงมีความพยายามในการคิดค้นวิธีลดปริมาณการใช้พลังงาน หรือ การหาพลังงานทดแทนพลังงานเหล่านั้นที่จะหมดไปในอนาคต ซึ่งแหล่งพลังงานทดแทนที่น่าสนใจสำหรับอนาคต 5 ชนิดคือ
- พลังงานชีวภาพจากสาหร่าย - Algae Power
หลายคนอาจจะแปลกใจว่าเราจะนำสาหร่ายมาสร้างพลังงานทดแทนได้จริงหรือ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าในสาหร่ายนั้นอุดมไปด้วยน้ำมัน เราจึงสามารถนำสาหร่ายเหล่านี้มาดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพได้ สาหร่ายยังสามารถเจริญเติบโตได้ดีถึงแม้จะเป็นน้ำเสียก็ตาม และสาหร่ายเองก็มีความสามารถในการช่วยบำบัดน้ำเสียอีกด้วย โดยสาหร่ายที่เพาะปลูกในพื้นที่ประมาณ 2.5 ไร่ จะให้ปริมาณน้ำมันมากถึงประมาณ 34,000 ลิตร ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทในต่างประเทศที่กำลังพัฒนาการใช้พลังงานน้ำมันชีวภาพจากสาหร่าย มาใช้ในรถยนต์ไฮบริดควบคู่กับแบตเตอรี่แล้ว - พลังงานจากกังหันลมแบบลอยบนอากาศ - Flying Wind Power
พลังงานจากกังหันลมแบบลอยบนอากาศ คือ พลังงานที่ได้จากลมโดยมีกังหันลมเป็นเครื่องจักรกลไว้รับพลังงานจลน์จากการเคลื่อนที่ของลมผ่านตัวกังหันเพื่อเปลี่ยนลมให้เป็นพลังงานกล จากนั้นเราก็สามารถนำพลังงานกลมาใช้ประโยชน์ได้ แต่พลังงานจากกังหันลมแบบลอยบนอากาศจะแตกต่างจากพลังงานจากกังหันลมทั่วไป คือ กังหันลมแบบลอยบนอากาศจะติดตั้งบนพื้นที่ หรือบริเวณในระดับความสูงเหนือพื้นดินประมาณ 1,000 – 2,000 ฟุต เพื่อรับแรงลมที่แรงกว่าแรงลมปกติ โดยแรงลมที่ความสูงเหนือพื้นดินประมาณ 1,000 – 2,000 ฟุต นี้จะได้รับลมที่มีความเร็วมากกว่าลมที่ติดตั้งแบบทาวเวอร์ประมาณห้าถึงแปดเท่า และกังหันลมแบบลอยบนอากาศสามารถผลิตพลังงานได้มากกว่ากังหันลมขนาดใกล้เคียงกันที่ตั้งแบบทาวเวอร์ถึง 2 เท่า - พลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งได้ทุกพื้นผิว - Embeddable Solar Power
พลังงานแสงอาทิตย์เป็นอีกหนึ่งพลังงานทดแทนที่มีความสำคัญ เนื่องจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานทดแทนที่โลกได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะกลายเป็นหนึ่งในพลังงานทดแทนหลักในอนาคต อีกทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ยังเป็นพลังงานสะอาด โดยปกติแล้วการจะแปรสภาพพลังงานจากแสงอาทิตย์จะทำได้โดยผ่านแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งเราจะต้องนำแผงโซลาร์เซลล์ติดตั้งหลังคาของบ้าน อาคาร และที่สูง เพื่อให้โซลาร์เซลล์ได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์อย่างเต็มที่ แต่ในปัจจุบันได้มีการนำแผงโซลาร์เซลล์มาประยุกต์กับข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ยกตัวอย่าง เช่น หลอดไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เคสโทรศัพท์มือพลังงานแสงอาทิตย์ หรือแม้แต่ตุ๊กตาติดหน้ารถพลังงานแสงอาทิตย์ โดยของใช้เหล่านี้จะมีแผงโซลาร์เซลล์ขนาดเล็กถูกติดตั้งมา และจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้รับผ่านแผงโซลาร์เซลล์เป็นพลังงานในการขับเคลื่อน หรือ หากเป็นเคสโทรศัพท์มือพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานที่ได้รับจากแผงโซลาร์เซลล์นั้นจะเปลี่ยนเป็นพลังงานสำหรับมือถือที่สวมใส่เคสพลังงานแสงอาทิตย์ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เคสโทรศัพท์มือถือพลังงานแสงอาทิตย์จะกลายเป็นเหมือน Power Bank แบบไร้สายเพื่อประจุไฟเข้าโทรศัพท์มือถือนั่นเอง ในอนาคตเหล่านักวิจัย และผู้พัฒนาได้ตั้งเป้าหมายว่าจะมีการพัฒนาทางเทคโนโลยีเพื่อทำให้เราสามารถเคลือบ หรือ ฝังโซลาร์เซลล์ลงบนพื้นผิวของวัตถุต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น ด้านนอกอาคาร หลังคาบ้าน หลังคารถ หน้าต่าง และกระจกของอาคารต่างๆ เรือใบ เต็นท์ บนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น หน้าจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน หรือแม้แต่บนเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ทุกวัน โดยที่ทางผู้พัฒนาคาดหวังว่าการพัฒนานี้จะช่วยให้การติดตั้งโซลาร์เซลล์ง่ายขึ้น โดยสามารถติดตามสถานที่ วัตถุ หรือ พื้นผิวต่างๆ ที่หลากหลายขึ้น และมีราคาที่ถูกลง เพื่อให้การใช้โซลาร์เซลล์กลายเป็นที่นิยมมากขึ้นในอนาคต - พลังงานฟิวชั่น - Fusion Power
พลังงานฟิวชั่น คือ พลังงานที่เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่น ซึ่งพลังงานฟิวชั่นก็คือพลังงานนิวเคลียร์ชนิดหนึ่งนั่นเอง แต่พลังงานชนิดนี้เป็นพลังงานสะอาด แตกต่างจากพลังงานนิวเคลียร์ทั่วไป โดยพลังงานฟิวชั่นเป็นการรวมตัวของพลังงาน คือ ธาตุเบารวมตัวกันเป็นธาตุหนัก เช่น ไฮโดรเจน รวมกันเป็น ฮีเลียม แล้วปล่อยพลังงานออกมา และเรานำพลังงานที่อยู่ในใจกลางอะตอม (Nucleus) มาใช้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าพลังงานฟิวชั่นจะไม่มีการปล่อยสารกัมมันตรังสี และมีขั้นตอนในการทำปฏิกิริยาที่ต่างกับพลังงานนิวเคลียร์แบบปกติ แต่มีแหล่งต้นกำเนิดพลังงานจากนิวเคลียสเหมือนกัน ในปัจจุบันประเทศฝรั่งเศสได้สร้างเครื่องปฏิกรณ์ทดลองความร้อนระหว่างประเทศ (ITER) ซึ่งจะกลายเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานฟิวชั่นเชิงพาณิชย์ แห่งแรกของโลก โดยประเทศฝรั่งเศสได้รับทุนจาก 7 ประเทศในการสร้างเครื่องปฏิกรณ์ทดลองความร้อนนี้ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จในปี 2027 - พลังงานจากร่างกายมนุษย์ - Human Power
พลังงานจากร่างกายมนุษย์กลายมาเป็นอีกหนึ่งพลังงานทดแทนที่น่าสนใจในโลกอนาคต เนื่องจากมนุษย์สามารถสร้างพลังงานผ่านการเคลื่อนไหวต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งก็นับเป็นอีกหนึ่งพลังงานทดแทนหมุนเวียนที่ค่อนข้างน่าสนใจ และจะมีบทบาทสำคัญในอนาคตทีเดียว เนื่องจากมนุษย์เราต้องเคลื่อนไหวร่างกายทุกวัน นั่นหมายถึงมนุษย์เราสามารถสร้างพลังงานได้ทุกวันด้วยการเคลื่อนไหวร่างกายนั่นเอง โดยในอนาคตมนุษย์เราอาจกลายเป็นแหล่งพลังงานสำคัญสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กที่เราพกติดตัว ซึ่งหากเราสามารถสร้างพลังงานทดแทนจากมนุษย์ได้จริง ก็จะทำให้ชีวิตของเราสะดวกสบายมากขึ้น เช่น การพกแบตเตอรี่สำรองสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือ คอมพิวเตอร์แบบ Laptop ขนาดเล็ก เนื่องจากเราสามารถสร้างพลังงานได้เอง มนุษย์สามารถสร้างพลังงานได้เฉลี่ย 100 วัตต์ ต่อ วัน หรือ อาจสร้างกระแสไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 300-400 วัตต์ ต่อ วัน สำหรับผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง หรือ มีการเคลื่อนไหวมาก เช่น นักกีฬา ในขณะที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ ใช้กำลังไฟฟ้าเพียง 2 วัตต์เท่านั้น จึงเรียกได้ว่าพลังงานจากร่างกายมนุษย์นั้นจะมากพอที่จะเป็นพลังงานทดแทนสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กแน่นอน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดตอนนี้ คือ การคิดค้นอุปกรณ์สำหรับการแปลง และกักเก็บพลังงานจากการเคลื่อนไหวร่างกายของมนุษย์ที่เหล่านักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักพัฒนา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการคิดค้น และพัฒนาเทคโนโลยีจะต้องทำขึ้นมาให้สำเร็จ เพื่อให้อุปกรณ์เหล่านี้กลายเป็นทางเลือกสำคัญในการใช้พลังงานทดแทนในอนาคต
บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ได้มีการดำเนินงานริเริ่มโครงการพลังงานทดแทน และพลังงานสะอาดต่างๆ หลายโครงการ โดยมีทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ เพื่อให้พลังงานทดแทน และพลังงานสะอาดเหล่านี้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้าหลักของประเทศไทย ทดแทนการผลิตพลังงานรูปแบบเดิมที่อาจจะหมดไปในอนาคต รวมไปถึงการคิดค้น วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น การตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอรอนฟอสเฟตที่เรียกว่า SemiSolid เพื่อเป็นการส่งเสริมวงการรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เนื่องจากแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนฟอสเฟตตัวนี้เป็นเทคโนโลยีจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อนำไปใช้งานเป็นแบตเตอรี่ของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เพราะมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และมีความปลอดภัยในการใช้งาน อีกทั้ง GPSC ยังมีการลงทุนเพิ่มเติมในโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในต่างประเทศ เช่น ประเทศอินเดีย และไต้หวัน เพราะมีการคาดการณ์ว่าโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนนั้นยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยความต้องการใช้ไฟฟ้าของนิคมอุตสาหกรรมจะขยายตัวประมาณ 4 - 6% จากปีก่อน และการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนถือเป็นการลงทุนที่ตอบโจทย์ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านอัตราการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และยังเป็นการช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ขององค์กรอีกด้วย
อ้างอิง
www.greennetworkthailand.com
www2.mtec.or.th
pracob.blogspot.com
www.seub.or.th
www.dede.go.th
www.voathai.com
www.solarfabric.com
re-fti.org
www.voathai.com
www.scimath.org
www.uac.co.th
th.wikipedia.org
www.powermeterline.com
www.adheseal.com
www.gpscgroup.com/th/news/946
www.gpscgroup.comth/investor-relations/news
www.gpscgroup.com/th/news/pr/903
www.bangkokbiznews.com
www.gpscgroup.com/th/business/project?category=3
www.gpscgroup.com/th/business/project/22
www.gpscgroup.com/th/business/project/36