PTT Group Sharings
02 กุมภาพันธ์ 2565

ใครๆ ก็พูดถึง Net Zero

“Net Zero” เป็นคำที่เราอาจจะพอได้ยินผ่านหูมาบ้างในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จนเมื่อเร็วๆ นี้ ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ได้มีการประกาศแผนการลดการปล่อยมลพิษภายในปี 2030 โดย 200 ประเทศที่เข้าร่วม และแนวคิด Net Zero ก็เริ่มถูกหยิบยกมาพูดถึงกันในวงกว้างผ่านสื่อต่างๆ จนเริ่มคุ้นหูคนไทย ซึ่งหากจะแปลคำว่า Net Zero กันแบบตรงตัวก็คือ “ศูนย์โดยสุทธิ” อันหมายความถึง ความพยายามไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มเติม หรือ การพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมไปถึงแนวทางการจัดการกำจัดก๊าซเรือนกระจกที่ที่ถูกผลิตออกมาแล้ว

แนวทางในการกำจัดก๊าซเรือนกระจกโดยทั่วไป คือ การปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น แต่การปลูกต้นไม้จะต้องใช้ทั้งทรัพยากร เช่น ที่ดิน และน้ำ เพิ่มขึ้นสำหรับการเพาะปลูก อีกทั้งยังต้องอาศัยเวลานานหลายปีกว่าต้นไม้เหล่านั้นจะเติบโตอย่างเต็มที่ เพื่อที่ต้นไม้เหล่านั้นจะสามารถดูดซึมก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้มีการคิดค้นเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาในปริมาณมหาศาลในแต่ละปี โดยเครื่องดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศนี้จะทำงานโดยการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากอากาศ แล้วเปลี่ยนให้กลายเป็นของแข็ง จากนั้นนำไปฝังใต้ดิน หรือ แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ก้อนหิน แต่ในปัจจุบันการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศนั้นมีต้นทุนเกือบ 20,000 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมาก และต้องใช้พลังงานจำนวนมาก อีกทั้งเครื่องดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สามารถดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้เพียงแค่ประมาณ 0.04% หรือ ประมาณ 4,000 ตัน จากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนหลายหมื่นล้านตันที่ถูกปล่อยออกมา

ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการนำแนวทาง Net Zero ไปใช้ในการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ และได้มีการตั้งชื่อแผนนี้ว่า Net Zero Emission โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่การผลิตพลังงานสะอาด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ตามชื่อของมัน ซึ่งแนวทางการจัดทำนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ของประเทศไทยในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 ข้อใหญ่ๆ

1. การเพิ่มพื้นที่สีเขียว
เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่สีเขียวลดลงจากการนำพื้นที่ไปใช้ประโยชน์ทางด้านอื่น เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่า การเผาป่า และอื่นๆ ที่ทำให้พื้นที่ป่าลดลงเป็นอย่างมาก เมื่อพื้นที่ป่าและต้นไม้ลดลง จึงส่งผลไปให้ประสิทธิภาพในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกของพื้นที่นั้นๆ ลดลง และเป็นสาเหตุที่ทำให้ก๊าซเรือนกระจกถูกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น ซึ่งได้มีการกำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ขึ้น 40% โดยแบ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 25% และพื้นที่ป่าใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอีก 15%

2. ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง
เป็นนโยบายที่ได้กำหนดขึ้นมาเพื่อลดปริมาณการใช้พลังงานเชื้อเพลิง เพื่อลดต้นกำเนิดของการก่อก๊าซเรือนกระจกที่ถูกสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศ และช่วยควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมทางอ้อม โดยใช้ภาษีคาร์บอนเข้ามาเป็นตัวช่วยในการควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

3. ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด
การส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ถือเป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อวงการอุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้แล้ว ก็ยังสามารถทำให้ขั้นตอนการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากได้มีการนำเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเข้ามาช่วยในขั้นตอนการผลิต อีกทั้งยังไม่ต้องกังวลเรื่องปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา และภาษีคาร์บอนที่จะต้องจ่ายอีกด้วย รวมไปถึงได้มีการสนับสนุนยานยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV และมีการตั้งเป้าหมายที่จะผลิตยานยนต์ที่จะไม่มีการปล่อยมลพิษเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2030 อีกด้วย

จากการประชุม COP26 ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วม และได้แสดงถึงความมุ่งมั่นในการให้ความร่วมมือที่จะแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ จึงได้ตอบสนองต่อนโยบาย Net Zero ของภาครัฐ โดยการกำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และมีการเสนอแผนปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) นี้ต่อคณะกรรมการบริษัทเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อให้บริษัทในกลุ่มปตท. มีแนวทางการดำเนินการไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน ซึ่งทาง ปตท.ได้มีการปรับวิสัยทัศน์ใหม่ ซึ่งก็คือ การขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังงานแห่งอนาคตและเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน (Powering life with Future energy and Beyond) พร้อมมีการกำหนดกลยุทธ์ PTT Group Clean and Green Strategy ในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจ ซึ่งมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 ลงร้อยละ 15 จากปริมาณการปล่อยคาร์บอนปี 2020 และได้มีการทบทวนเป้าหมายสำหรับการทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกกลายเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยที่ทาง ปตท. ได้กำหนดแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น Carbon Capture Storage and Utilization (CCSU), การซื้อขายคาร์บอนเครดิต, การปลูกป่า, การใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต, การใช้พลังงานไฮโดรเจน การทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยด้วย LNG และการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น

ทางบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ที่ได้มีการประกาศแผน Together To Net Zero เพื่อปรับตัวสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ ลดการปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้สำเร็จภายใน ปี 2050 ซึ่งแผน Together to Net Zero จะขับเคลื่อนด้วยแนวทาง 3 ประการ คือ

  1. Efficiency-driven การเพิ่มประสิทธิภาพในทุกกระบวนการ โดยใช้หลัก "5Rs" (Reduce, Recycle, Reuse, Refuse, Renewable) และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อลดการใช้ทรัพยากร และพลังงาน รวมถึงการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้
  2. Portfolio-driven การบริหารพอร์ตโฟลิโอธุรกิจ และผลิตภัณฑ์ของ GC ผ่านนวัตกรรม และการลงทุน โดยเน้นไปที่การลงทุนด้านธุรกิจ และผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ
  3. Compensation-driven นโยบายการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ ด้วยการแก้ปัญหาที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-Based Solutions) รวมทั้งการจัดหาและลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ สร้างพันธมิตร และการร่วมทุนทางธุรกิจ เพื่อให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เชื่อว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) จะสามารถทำให้สำเร็จลุล่วงไปได้ภายในปี 2050 หากได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และผู้บริโภค โดยการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการจัดการผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทาง GC เองก็พร้อมที่จะร่วมมือกับพันธมิตรในระดับสากล เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยเหลือโลกและส่งต่อลูกหลานของเราในอนาคต

อ้างอิง
https://www.posttoday.com
https://mgronline.com
https://www.facebook.com/environman.th/
https://www.setsocialimpact.com

หัวข้อที่น่าสนใจ