ทำไมปัญหา PM 2.5 แก้ไม่หาย
เมื่อย่างเข้าหน้าหนาว หลายๆคนคงนึกถึงการออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านสูดอากาศธรรมชาติ เช่น วิ่งจ๊อกกิ้งหรือนั่งปิกนิกในสวนสาธารณะ ที่ส่วนใหญ่ไม่สะดวกจะทำในช่วงเวลาอื่นๆของปี เพราะอากาศมักจะร้อนอบอ้าวสลับกับฝนตก แต่หลายปีมานี้การออกไปวิ่งจ๊อกกิ้งที่สวนสาธารณะในหน้าหนาวกลายเป็นกิจกรรมต้องห้ามสำหรับคนรักสุขภาพ เพราะความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เรียกว่า PM 2.5 อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จนไม่ควรทำกิจกรรมกลางแจ้งโดยไม่จำเป็น
คำว่า PM ย่อมาจาก Particulate Matters แปลว่าฝุ่นแขวนลอยในอากาศ ส่วน 2.5 คือเลขขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ฝุ่น PM 2.5 จึงหมายถึงฝุ่นละเอียดที่มีอนุภาคเล็กมาก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน มีขนาดไม่ถึงครึ่งของเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7.5 to 8.7 ไมครอน ขนาดที่เล็กมากของฝุ่นนี้ทำให้มันเป็นอันตรายมากต่อสุขภาพ เพราะสามารถซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจและผิวหนังแพร่ไปสู่อวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งปอด ทั้งยังดักกรองก่อนเข้าสู่ร่างกายได้ยาก ต้องใช้หน้ากากที่มีระดับการกรองละเอียดขั้น N95 จึงจะสามารถดักกรองฝุ่นละเอียดเหล่านี้ได้
จากรายงานของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสรุปว่า PM 2.5 ในประเทศไทยมีแหล่งกำเนิดที่สำคัญ 3 แหล่ง คือ ไอเสียรถยนต์ดีเซล การเผาชีวมวล และฝุ่นทุติยภูมิจากปฏิกิริยาเคมีระหว่างไอเสียจากรถยนต์และแอมโมเนียจากปุ๋ย จากการวิเคราะห์ตัวอย่างฝุ่นในกรุงเทพและปริมณฑลโดยสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) เมื่อปี 2560 พบว่าแหล่งกำเนิด PM 2.5 อันดับหนึ่งในฤดูแล้งมาจากการเผาชีวมวลในที่โล่งแจ้ง เช่น การเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก (สามารถมาจากการเผาในระยะ 500 กิโลเมตรรอบกรุงเทพ) ส่วนในฤดูฝนสาเหตุอันดับหนึ่งคือไอเสียจากรถดีเซล
ปริมาณ PM 2.5 ยังขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศและสภาพทางอุตุนิยมวิทยา เช่น ช่วงเดือนมีนาคม 2563 จังหวัดเชียงใหม่เกิดวิกฤตฝุ่นควัน จากการเผาชีวมวล ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศแบบเป็นแอ่ง ช่วงลมสงบ และได้รับมวลอากาศพร้อมฝุ่นควันจากการเผาชีวมวลในช่วงระยะเวลาเดียวกันจากประเทศเพื่อนบ้าน
ปัจจุบันมีความพยายามที่จะลด PM 2.5 จากการเผาชีวมวลโดยการออกกฎ “60 วันห้ามเผา” ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ โดยห้ามเผาไร่เป็นเวลา 60 วันตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึง 30 เมษายน แม้ในระยะสั้นจะได้ผลแต่ก็มีเสียงสะท้อนจากเกษตรกรในพื้นที่ว่าเป็นการออกกฎจากเบื้องบนโดยไม่สนใจวิถีชีวิตชาวบ้านในพื้นที่จริง การสั่งห้ามเผาในช่วงเวลาดังกล่าวทำให้เกษตรกรเตรียมพื้นที่ในการเพาะปลูกไม่ทัน ทำให้เกิดการลักลอบเผาที่อาจลุกลามเป็นไฟป่าได้ประธานสภาพลเมือง จ.แม่ฮ่องสอน ได้ให้ข้อมูลว่ามีกลุ่มนายทุนเข้าไปสนับสนุนให้ชาวบ้านในพื้นที่ทำไร่ข้าวโพดเชิงเดี่ยวแทนไร่สวนผสมทำให้เกิดวัสดุเหลือใช้หลังการเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นมหาศาล ต่อปีจะมีวัสดุเหลือใช้จากการปลูกข้าวโพดกว่า 4 ล้านตันทั่วประเทศที่จำเป็นต้องกำจัดภายในช่วงมกราคม-มีนาคม ซึ่งทางเลือกในการกำจัดที่รวดเร็วและประหยัดที่สุดคือเผาในที่โล่ง หากภาครัฐต้องการแก้ปัญหา PM 2.5 จากการเผาชีวมวลในระยะยาวควรเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ให้มีวิธีทำกินอื่นที่ดีกว่าการทำไร่ข้าวโพด หรือช่วยอำนวยความสะดวกในการกำจัดเศษวัสดุด้วยวิธีอื่นที่สร้างมลพิษน้อยกว่า
สำหรับปัญหาหมอกควันข้ามแดน กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประเทศไทย ได้ร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเมียนมา โดยประเทศไทยจะสนับสนุนข้อมูลด้านวิชาการ ตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 และติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศให้แกเมียนมาเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในอนาคต
ส่วนแนวทางแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากยานยนต์ดีเซล สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เสนอว่าต้องอาศัยความร่วมมือจากสามส่วนคือ ภาครัฐ ผู้ผลิตยานยนต์และผู้บริโภค ภาครัฐควรมีแผนดำเนินการในระยะสั้นกลาง และยาว ตัวอย่างเช่น ระยะสั้น: เข้มงวดการตรวจสภาพรถยนต์และตรวจจับไอเสีย
ระยะกลาง: ปรับโครงสร้างการเก็บภาษีรถยนต์ประจำปี หาวิธีกำจัดรถยนต์เก่าออกจากระบบ
ระยะยาว : มีมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ประเภทที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า และพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ
ปตท. ขอเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 ต่อสุขภาพของประชาชน มีแผนติดตั้งเครื่องตรวจวัด PM 2.5 ที่คิดค้นขึ้นโดยสถาบันนวัตกรรม ปตท. ที่ชื่อว่า “NONG PIM” กว่า 200 จุดภายในปี 2565 ในพื้นที่กรุงเทพ ปริมณฑลและนิคมอุตสาหกรรมต่าง โดยแสดงผลผ่านทาง Website และ Application แบบ Real time
อ้างอิง
https://www.prd.go.th
https://thestandard.co
http://infofile.pcd.go.th
https://www.bbc.com
https://www.bbc.com
https://tdri.or.th
https://mgronline.com/business/detail/9650000001873