หญ้าทะเล หนทางฟื้นฟูระบบนิเวศทะเลไทย
หญ้าทะเล เป็นกลุ่มของพืชดอกเพียงกลุ่มเดียวที่มีการวิวัฒนาการเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในทะเล ลักษณะโครงสร้างภายนอกคล้ายกับหญ้าที่อยู่บนบก ประกอบด้วย ราก เหง้า และใบ โดยรากมีหน้าที่ดูดซึมสารอาหาร และแร่ธาตุจากในดิน ช่วยยืดเกาะกับพื้นดิน เหง้าเป็นส่วนของลำต้นที่เจริญเติบโต และใบมีหน้าที่สังเคราะห์แสงเพื่อสร้างอาหาร ใบของหญ้าทะเลแต่ละชนิดจะมีลักษณะต่างกัน เช่น เป็นแผ่นแบน เป็นท่อกลม ซึ่งใบของหญ้าทะเลมีความสำคัญในการจำแนกชนิดของหญ้าทะเลแต่ละชนิด หญ้าทะเลสามารถสืบพันธุ์ได้ 2 วิธี คือ สืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ ซึ่งจะใช้เกสรตัวเมีย และตัวผู้ในการสืบพันธุ์ และการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ซึ่งอาศัยการแตกแขนงของลำต้นใต้ดิน และเจริญเป็นต้นใหม่ขึ้นมาจากผิวดิน
หญ้าทะเลเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศท้องทะเลเป็นอย่างมาก เนื่องจากหญ้าทะเลเป็นที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหารของเหล่าสัตว์ โดยสัตว์ที่อาศัยในระบบนิเวศหญ้าทะเลสามารถแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ตามแหล่งอาศัยดังต่อไปนี้
- สัตว์บนใบหญ้าทะเล (epiphytes) อาศัยอยู่บนผิวใบหญ้าทะเล เช่น โปรโตซัว ฟอรามินิเฟอแรน โปรโตซัว ไฮดรอยด์ หนอนตัวแบน ทากทะเล หอย เป็นต้น โดยใบหญ้าทะเลที่มีอายุมาก และมีผิวใบมากเช่น หญ้าชะเงา (Enhalus acoroides) อาจพบสัตว์ได้ถึงมากกว่าหนึ่งหมื่นตัวต่อต้น
- สัตว์ที่อาศัยหลบซ่อนระหว่างต้นหญ้าทะเล เช่น ปลา กุ้ง หมึก เต่า พะยูน ซึ่งสัตว์เหล่านี้อาศัยพื้นดินระหว่างต้นหญ้าทะเลเป็นที่หลบซ่อน หากิน
- สัตว์ที่อาศัยอยู่บนพื้นดิน (benthos) เช่น หอย ดาวทะเล เม่นทะเล ปลิง เป็นต้น สัตว์เหล่านี้ส่วนใหญ่กินซากเน่าสลาย ทำให้ซากถูกย่อยมีขนาดเล็กลง และทำให้เกิดการย่อยสลายซากได้เร็วยิ่งขึ้น
- สัตว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นดิน (infauna) เช่น หอย ไส้เดือนทะเล หนอนตัวกลม และปู ทำให้เกิดการหมุนเวียนธาตุอาหารในระบบนิเวศหญ้าทะเล
โดยสัตว์น้ำบางชนิดเป็นสัตว์เศรษฐกิจ เช่น กุ้ง หอย ปู และปลา อีกทั้งหญ้าทะเลยังเป็นแหล่งอาหารสำคัญของพะยูน และเต่าทะเล เป็นแหล่งวางไข่ และอนุบาลตัวอ่อนของปลา กุ้ง หมึก ปูม้า หอยชนิดต่างๆ ไส้เดือนทะเล ตลอดจนสัตว์เล็กๆ หลากหลายชนิด
หญ้าทะเลนั้นมักจะได้รับผลกระทบเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศ ทั้งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์ และเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์ เช่น การตั้งบ้านเรือน หรือ ชุมชนอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล การพัฒนาด้านเกษตรกรรมต่างๆ ทั้งการเพาะปลูก และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางอุณหภูมิ สภาพอากาศ สภาพแวดล้อม และอื่นๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่หญ้าทะเลทั้งสิ้น อีกทั้งหญ้าทะเล และป่าชายเลนทำหน้าที่เหมือนเป็นประตูกั้นระหว่างกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนฝั่งกับทะเล เช่นเดียวกับแนวปะการัง
โดยบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC หนึ่งในกลุ่มธุรกิจในเครือ ปตท. ได้สนับสนุนในการช่วยร่วมฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล และมีการจัดโครงการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 โดยได้นำร่องปลูกหญ้าทะเลชนิดกุ้ยช่ายเข็ม จำนวน 5,000 กอ ในทะเลพื้นที่ 3 ไร่ ห่างจากชายฝั่งของหาดนภาธาราภิรมย์ ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โครงการนี้มีวัตุประสงค์ในการดำเนินงาน คือ เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเป็นแหล่งอนุบาล และแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเล และต่อมาวันที่ 13 มกราคม 2565 ได้จัดพิธีส่งมอบหญ้าทะเลในโครงการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งขยายผลมาจากโครงการนำร่องปลูกหญ้าทะเลเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจากพลเรือตรี สมประสงค์ วิศลดิลกพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพเรือมาเป็นประธานในพิธี และโครงการนี้กลุ่มจีพีเอสซีได้รับความร่วมมือจากกองทัพเรือภาคที่ 1 และศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก (ศวทอ.) ในการดำเนินการโครงการ
อ้างอิง
www.mkh.in.th
km.dmcr.go.th
www.dmcr.go.th
andaman.fish.ku.ac.th
www.seawatch-sw.org
www.facebook.com/WeLovePTT/
www.gpscgroup.com