Plant based เนื้อจากพืชรักษาสิ่งแวดล้อม (จริงหรือ?)
เนื้อจากพืช หรือ Plant-based Meat เป็นอาหารแนวใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มผู้รักสุขภาพและห่วงใยสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีสัดส่วนสารอาหารใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริง มีโปรตีนสูงแต่ไขมันต่ำ มีใยอาหารมาก ช่วยในการควบคุมน้ำหนัก ไร้คอเลสเตอรอล ช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable disease: NCDs) เช่น โรคไขมันในเลือดสูงและโรคหัวใจ การผลิต Plant-based Meat ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการผลิตเนื้อสัตว์ปกติมาก การทำฟาร์มปศุสัตว์ปล่อยแก๊สเรือนกระจกมากถึง 7.1 พันล้านตันต่อปี คิดเป็น 14.5% ของแก๊สเรือนกระจกที่เกิดจากมนุษย์ทั้งหมด Plant-based Meat สร้างก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าเนื้อสัตว์ปกติราว 30-90% การทำฟาร์มปศุสัตว์ใช้พื้นที่ถึง 77% ของพื้นที่ที่ใช้ในการทำเกษตรกรรมทุกๆ อย่างรวมกัน แต่สร้างผลผลิตเป็นอาหารได้เพียง 17% เนื้อจากพืชสามารถใช้พื้นที่ในการผลิตน้อยกว่าเนื้อสัตว์ปกติราว 47-99% (ขึ้นอยู่กับชนิดของอาหาร) ก่อมลภาวะทางน้ำน้อยกว่า 51-91%
Plant-based meat ต่างจากโปรตีนเกษตรที่เราคุ้นเคยกันในเมนูอาหารเจอย่างไร? โปรตีนเกษตรทำมาจากแป้งถั่วเหลือง แม้จะสามารถนำมาปรุงอาหารได้รสชาติดีแต่ก็มีรสชาติที่ไม่เหมือนเนื้อสัตว์จริงนอกจากนี้ในแง่คุณค่าทางโภชนาการ โปรตีนเกษตรยังให้พลังงานถึง 366 กิโลแคลอรี่ต่อ 100 กรัม ให้ปริมาณสารอาหารประเภทโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตในสัดส่วนที่พอๆกัน ในขณะที่เนื้อจากพืชทำจากพืชที่มีโปรตีนสูง เช่น ถั่ว เห็ด สาหร่าย ข้าวโอ๊ต อัลมอนด์ และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้มีรสชาติและสัมผัสที่คล้ายเนื้อจริงๆ เช่น บริษัท impossible foods ใช้โมเลกุลธาติเหล็กที่ชื่อ ‘ฮีม’ (Heme) ซึ่งพบมากในส่วนกล้ามเนื้อของสัตว์เสริมลงไปในผลิตภัณฑ์ทำให้เกิดกลิ่นและรสชาติเหมือนเนื้อจริง บริษัท NovaMeat ใช้เทคโนโลยี Bio-hacking และ Bio-printing จำลองโครงสร้างเนื้อเยื่อสามมิติให้ได้เนื้อจากพืชที่มีสัมผัสเหมือนเนื้อจริง ให้สารอาหารประเภทโปรตีนสูง แต่มีสัดส่วนคาร์โบไฮเดรตและไขมันต่ำ
Plant-based meat นอกจากจะดีต่อสุขภาพและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยแล้ว ยังช่วยลดการฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหาร การทรมานสัตว์จากการเลี้ยงในพื้นที่แออัดในฟาร์ม เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์และยังลดโอกาสที่จะได้รับโรคติดต่อจากเนื้อสัตว์ เช่น ไข้หวัดนก โรควัวบ้า รวมทั้งโรคที่เกิดจากแบคทีเรียปนเปื้อนเช่น เชื้อซาลโมเนลล่า (Salmonella) ที่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดผู้ป่วยติดเชื้อต้องรับการเข้ารักษาในโรงพยาบาลประมาณ 23,000 รายต่อปี และผู้เสียชีวิตราว 380 ต่อปีจากข้อมูลของ EUROMONITOR ระบุว่า มูลค่าตลาด Plant-based Food ทั่วโลกในปี 2019 มีมูลค่า 4.8แสนล้านบาทไทย คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 10.5% ต่อปี โดยในปี 2024 คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าตลาดราว 7.5 แสนล้านบาท สำหรับมูลค่าตลาด Plant-based Food ในไทยปัจจุบันมีมูลค่าราว 28,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะโต 10% ต่อปี เป็น 4.5 หมื่นล้านบาทในปี 2024 เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้จัดตั้งบริษัท ‘นิวทรา รีเนจเนอเรทีฟ โปรตีน จำกัด หรือ NRPT’ ร่วมกับ บมจ.เอ็นอาร์ อินสแตนต์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ผ่านบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่ม ปตท. เพื่อผลิตจัดจำหน่าย รวมถึงวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภท Plant-based foods ปัจจุบันได้ร่วมทุนจัดตั้งโรงงานในประเทศไทย คาดว่าเมื่อแล้วเสร็จจะมีกำลังการผลิต 3,000 ตันต่อปี โดยตั้งเป้าจะเป็นศูนย์กลางในการผลิตและจัดจำหน่าย Plant-based food ในภูมิภาคอาเซียน
อ้างอิง
www.sgethai.com
krungthai.com
www.fao.org
www.3m.co.th
gfi.org