PTT Group Sharings
23 มีนาคม 2565

“โรคซึมเศร้า” โปรดเข้าใจ

ในปัจจุบันมีผู้คนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจหรือมีอาการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งอาจจะมีสาเหตุได้จากทั้งเรื่องงาน สังคมรอบข้าง ครอบครัว ปัญหาการเงิน การเรียน เหล่านี้ทำให้เกิดความเครียดสะสมนำไปสู่โรคซึมเศร้าซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมโดยเป็นโรคทางด้านจิตเวชที่พบมากเป็นอันดับต้นๆ ของเมืองไทย โดยเกิดจาก 2 สาเหตุหลักคือ ปัจจัยทางชีวภาพ หรือพันธุกรรม เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง หรือความผันผวนของระดับฮอร์โมนที่สำคัญในร่างกาย และอีกสาเหตุมาจากด้านจิตใจหรือสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่าปัจจัยทางอารมณ์ เป็นผลมาจากสถานการณ์ความตึงเครียดทางอารมณ์ หรือจากปฏิกิริยาทางใจ เช่น อาการซึมเศร้าหลังจากสูญเสียคนรัก ตกงาน ภาวะซึมเศร้าเพราะสภาพจิตใจอ่อนล้า ที่เกิดจากสภาวะความเครียดเรื้อรัง เช่น ชีวิตสมรสมีปัญหาขัดแย้งไม่รู้จบ ความกดดันจากงานที่ต้องรับผิดชอบ หรือภาระหน้าที่มากเกินไป เป็นต้น

โรคซึมเศร้า เป็นความผิดปกติในการทำงานของสมอง ที่มีผลกระทบต่อความนึกคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรมและสุขภาพกาย แต่คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าโรคซึมเศร้า เป็นผลมาจากความผิดปกติของจิตใจ สามารถแก้ไขให้หายได้ด้วยตนเอง ในความจริงแล้ว โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท 3 ชนิด คือ ซีโรโตนิน นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน จึงจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ เพราะนอกจากจะต้องบำบัดอย่างถูกวิธีแล้ว ยังอาจจะต้องใช้ยาในการรักษาร่วมด้วย

การสังเกตตนเองหรือคนรอบข้างว่าเข้าข่ายโรคซึมเศร้า มีหลักการสังเกตง่ายๆ ดังนี้

  1. มีความคิดไปในทาง Negative Thinking หรือความคิดด้านลบตลอดเวลา มักรู้สึกสิ้นหวัง มองโลกในแง่ร้าย รู้สึกผิด รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไม่มีความหมาย และคิดว่าไม่มีทางเยียวยาได้ ในที่สุดก็จะคิดทำร้ายตัวเอง คิดถึงแต่เรื่องความตาย และพยายามที่จะฆ่าตัวตาย
  2. การเปลี่ยนแปลงทางการเรียนรู้หรือการทำงาน ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ความสนุก งานอดิเรก หรือกิจกรรมที่เพิ่มความสนุก รวมทั้งกิจกรรมทางเพศ รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีพลัง ทำงานช้าลง การงานแย่ลง ไม่มีสมาธิ ความจำเสื่อม การตัดสินใจแย่ลง
  3. มักมีความรู้สึกซึมเศร้า กังวลอยู่ตลอดเวลา มักหงุดหงิดฉุนเฉียว โกรธง่าย อยู่ไม่สุข กระวนกระวาย
  4. นอนไม่หลับ ตื่นเร็ว หรือหลับมากเกินไป บางคนเบื่ออาหารทำให้น้ำหนักลด หรือรับประทานอาหารมากผิดปกติ มีอาการทางกายที่รักษาด้วยยาธรรมดาไม่หาย เช่น อาการปวดศีรษะ แน่นท้อง ปวดเรื้อรัง รวมถึงความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นแย่ลง

สิ่งที่ควรทำเมื่อพบว่าคนใกล้ตัวมีอาการซึมเศร้า

  • ชวนทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นเล่นกีฬาเบาๆ เล่นเกม ทำงานศิลปะ เพื่อช่วยลดโอกาสที่จะคิดฟุ้งซ่าน และหดหู่แล้ว การเคลื่อนไหวร่างกายยังช่วยหลั่งสารความสุขอย่างเอ็นโดรฟินออกมา
  • รับฟังด้วยความตั้งใจ และไม่ตัดสินใจแทน ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักมีความคิดว่าตัวเองเป็นภาระให้คนอื่น การจะให้ผู้ป่วยพูดคุยระบายความรู้สึกต้องแสดงความจริงใจว่าอยากรับฟัง และไม่กดดัน หรือตัดสินเขา สร้างความไว้วางใจ และบรรยากาศสบายๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้เล่าสิ่งที่อยากพูดออกมาเต็มที่ เพราะบางครั้ง หากว่าคนรอบข้างได้มีโอกาสรับฟัง จะได้สามารถป้องกันเหตุร้ายที่จากความคิดที่อยากทำร้ายตัวเองได้ทันท่วงที

สิ่งที่ไม่ควรทำ

  • อย่าบอกปัด ผู้ป่วยโดยบอกว่าให้ทำจิตใจให้สงบ โดยไม่อยู่เคียงข้างพวกเขา เพราะผู้ป่วยจะรู้สึกทันทีว่าไม่มีที่พึ่งพา และยิ่งตีตัวออกห่าง
  • อย่าทำเป็นไม่ได้ยิน หรือไม่อยากพูดถึงเมื่อผู้ป่วยพูดถึงการอยากตาย หรือทำเป็นไม่สนใจเพื่อให้ผู้ป่วยเลิกคิด หรือมีคำพูดทำนองว่า “อย่าคิดมาก” เพราะยิ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่ลง ว่าไม่มีคนรับฟังสิ่งที่เขารู้สึกคับข้องใจ
  • อย่ากดดันและเร่งรัด ถ้าผู้ป่วยยังอาการไม่ดีขึ้น ห้ามพูดหรือทำให้พวกเขารู้สึกว่า “เมื่อไหร่จะหาย” หรือ “หายได้แล้ว” เพราะความเครียดเหล่านี้จะยิ่งส่งผลให้จิตใจแย่ลง และอาจเป็นหนักกว่าเดิม

ทำอย่างไรจึงห่างไกลโรคซึมเศร้า

  1. หมั่นดูแลตนเองให้มีสุขภาพดี การออกกำลังกาย พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ กินอาหารถูกสุขลักษณะ ไม่ใช้สารเสพติด และเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง
  2. ในด้านจิตใจ ฝึกให้เป็นคนคิดบวก มองโลกในแง่ดี ไม่คิดร้ายกับใคร ไม่กล่าวโทษตัวเองไปซะทุกเรื่อง ควรหางานอดิเรก คลายเครียด ทําสิ่งที่ทำให้รู้สึกตัวเองมั่นใจ
  3. ไม่เคร่งเครียดหรือทำงานหนักเกินไป ไม่ไปอยู่ในสถานการณ์หรือดูข่าวร้ายที่ทำให้จิตใจหดหู่ หากมีการใช้ยาเพื่อรักษาโรคใดๆ อยู่ไม่ควรหยุดยาเอง โดยเฉพาะถ้ารักษาโรคด้านจิตเวชอยู่ควรกินยาตามแพทย์สั่ง อย่าหยุดยาเอง

เราไม่สามารถรักษาหรือบำบัดโรคซึมเศร้าได้ด้วยตัวเอง หากเริ่มรู้สึกว่าชีวิตของตนเองไม่ปกติ มีความเครียดสูง การพบจิตแพทย์ก็เหมือนกับการตรวจสุขภาพใจให้เราเข้าใจสภาพจิตใจของตนเองในขณะนั้น แพทย์จะแนะนำวิธีป้องกันและปรับสภาพจิตใจให้ดีขึ้นด้วยการปรับวิธีคิด หรือรักษาด้วยการใช้ยา เพราะปัญหาทางด้านจิตใจหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนั้น ไม่ใช่มีสาเหตุจากโรคซึมเศร้าเพียงอย่างเดียว การพบจิตแพทย์จะช่วยให้เราได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี

อ้างอิง
www.si.mahidol.ac.th
www.dmh.go.th
www.praram9.com
www.manarom.com
www.phyathai.com
www.paolohospital.com
allwellhealthcare.com
www.phukethospital.com

หัวข้อที่น่าสนใจ