เมื่อความเชื่อขัดแย้งกับการรักษาสิ่งแวดล้อม
ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เราทุกคนกำลังพบเจออยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาโลกร้อน ปัญหาขยะมูลฝอย ปัญหาอุทกภัย ปัญหาความแห้งแล้ง ปัญหาน้ำเสีย ปัญหาเรื่องมลพิษ เหล่านี้เป็นปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนาน และมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่เราต่างเห็นปัญหาเหล่านี้มาหลายทศวรรษ แต่หลาย ๆ คนก็มองว่าเป็นปัญหาที่ไกลตัว ตลอดจนวิถีชีวิตและความเชื่อหลายอย่าง ๆ ทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งให้วิกฤตสิ่งแวดล้อมแย่ลงไป
ความเชื่อ ความศรัทธา ที่ถูกปลูกฝังจากรุ่นสุ่รุ่น ก่อให้เกิดเป็นประเพณีและวัฒนธรรมของสังคมส่วนใหญ่เกิดจากสภาพพื้นที่ และธรรมชาติที่รายล้อมโดยมักจะมีแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์อยู่เป็นพื้นฐาน เช่น ความเชื่อของชาวมุสลิมที่มองว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติเป็นการลงโทษจากพระผู้เป็นเจ้า บนพื้นฐานแนวคิดที่ให้เกียรติธรรมชาติว่าเป็นตัวแทนของพระเจ้า ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นล้วนเป็นผลมาจากพฤติกรรมของมนุษย์โดยตรงที่ไม่ให้เกียรติต่อธรรมชาติ เช่นเดียวกับแนวคิดชาวปกาเกอะญอ ที่มีความผูกพันกับธรรมชาติ ป่า ดิน และน้ำ ที่มีความเชื่อว่าต้องให้ความเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด เช่น การบูชาผีนาผีไร่ ทุกปีมีการเสี่ยงทายพื้นที่ทำกิน ว่าจะปลูกข้าวเลี้ยงสัตว์ในบริเวณไหน ปีถัดไปจะไม่ใช้พื้นที่ซ้ำเดิม โดยการปล่อยให้พื้นที่ที่เคยทำเกษตรว่างลง ธรรมชาติจะค่อยๆ เยียวยาตัวเองให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม ผิดกับวิถีเกษตรเชิงเดี่ยวในปัจจุบัน ที่ขยายพื้นที่การเพาะปลูกไปเรื่อย
ในปัจจุบันมีหลายความเชื่อที่ก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่เราเองก็น่าจะทบทวนได้ว่าเราจะเลือกปฏิบัติตามแนวทางที่ส่งทอดต่อกันมาอย่างไร เพื่อให้มีผลต่อสิ่งแวดล้อมของโลกเราในปัจจุบัน และอนาคต น้อยที่สุด โดยจะยกตัวอย่างความเชื่อที่ขัดแย้งกับการอนุรักษ์จากทั่วโลก ดังต่อไปนี้
การเผากระดาษเงินกระดาษทอง
พิธีกรรมเทศกาลตรุษจีน เชงเม้ง ที่มีการ ไหว้บรรพบุรุษ จะต้องมีการจุดธูป เผากระดาษเงินกระดาษทอง เป็นสาเหตุของการเกิดฝุ่นควัน เพิ่มวิกฤต PM2.5 โดยหลายเมืองในประเทศจีน เช่นเมือง ฮาร์บิน หมิงสุ่ย และซิงเหอ เริ่มออกกฎในการห้ามเผากระดาษเงินกระดาษทอง แบงก์กงเต๊ก ในช่วงเทศกาลเชงเม้ง เพื่อลดปัญหามลพิษฝุ่นและลดอุบัติเหตุ โดยก่อนหน้านี้จีนก็เริ่มควบคุมการจุดประทัดในวันปีใหม่ในเขตเมืองเพื่อลดอุบัติเหตุและลดมลพิษ เพราะแม้ว่าจะเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานับพันปีมลพิษจากการเผากระดาษเงินกระดาษทองยังมีผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งมีผลกระทบต่อสุขภาพ จากทั้งโลหะหนักและสารก่อมะเร็ง
การเฉลิมฉลอง โฮลี
ศาสนเทศกาลที่นิยมในชาวฮินดู และแพร่หลายไปทั่วโลก โฮลี คือพิธีการเฉลิมฉลองการมาถึงของฤดูใบไม้ผลิ จุดสิ้นสุดของฤดูหนาว จึงยึดถือเป็นการเริ่มต้นของวันรื่นเริง และยังเป็นที่รู้จักในฐานะ เทศกาลแห่งความรัก เทศกาลแห่งสี และเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ แต่เดิมมีการเฉลิมฉลองในเนปาล และอินเดีย ต่อมาแพร่กระจายไปยังภูมิภาคอื่นๆ ผ่านการพลัดถิ่นจากชมพูทวีป
การเฉลิมฉลอง โฮลี เริ่มต้นในคืนก่อน โฮลี ผู้คนรวมตัวกันทำพิธีกรรมทางศาสนาหน้ากองไฟและอธิษฐานขอให้ความชั่วร้ายภายในของพวกเขาถูกทำลาย เช้าวันรุ่งขึ้นมีการเฉลิมฉลองในชื่อ Rangwali Holi (Dhuleti) ซึ่งเป็นเทศกาลแห่งสีสันผู้คนจะละเลงสี โยนผงสีใส่กันอย่างสนุกสนานในถนนที่เปิดโล่ง สวนสาธารณะ นอกวัดและอาคารต่างๆ และในตอนเย็นก็จะเป็นการเดินทางแต่งตัวไปเยี่ยมเพื่อนและครอบครัว
ความเชื่อของ โฮลี ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพราะการก่อกองไฟ โฮลิกา แบบดั้งเดิมนั้นมีส่วนทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า โดยโฮลิกาทำให้เกิดกองไฟ 30,000 กองไฟทุกปี โดยแต่ละกองเผาไม้ประมาณ 100 กิโลกรัม และปัญหาการใช้เม็ดสีจากโลหะหนักในช่วงเทศกาลโฮลีทำให้เกิดมลพิษทางน้ำเสียชั่วคราวโดยระบบน้ำจะฟื้นคืนสู่ระดับปกติต้องใช้เวลาถึง 5 วัน นอกจากนั้นสีเขียวมาลาไคต์ซึ่งเป็นสีย้อมสังเคราะห์สีน้ำเงินแกมเขียวที่ใช้ในช่วงเทศกาลโฮลี มีส่วนทำให้เกิดการระคายเคืองดวงตาอย่างรุนแรง และสีบางสีที่ผลิตและจำหน่ายในอินเดีย ทำให้เกิดปัญหาการระคายเคืองผิวหนังเพิ่มขึ้น เพราะสีเหล่านี้ผลิตโดยขาดการตรวจสอบคุณภาพ จำหน่ายโดยไม่มีฉลาก จนทำให้องค์กรพัฒนาเอกชนหลายแห่งได้เริ่มรณรงค์ให้มีแนวทางปฏิบัติที่ปลอดภัย ใช้การผลิตและจำหน่ายสีที่ปลอดภัยกว่าซึ่งได้มาจากแหล่งธรรมชาติ เช่น ผักและดอกไม้ เป็นต้น
การล่าวาฬ
การล่าสัตว์ทะเลหรือสัตว์ประเภทอื่นๆ เป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ที่มีมาตั้งแต่ยุคโบราณ การล่าวาฬก็เช่นกัน ถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการดำรงชีวิตที่มีมาตั้งแต่ 3000 ปีก่อนคริสตกาลของอาณาจักรแอตแลนติสเหนือและแปซิฟิกเหนือ โดยผู้ล่ายุคแรก คือชาวเอสกิโม การล่าทำเพื่อการดำรงชีวิตคนในชุมชน เนื่องจากวาฬเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ทำให้กินกันได้หลายมื้อและหลายคน นอกจากนั้นยังเป็นความเชื่อเรื่องการเปลี่ยนผ่านช่วงวัย การล่าเพื่อส่งเสริมให้คนที่มีกำลังและอายุที่เหมาะสมหาเลี้ยงชีพสืบต่อกันไป นอกจากนี้การล่าวาฬเป็นพิธีกรรมเพื่อแสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มชน ปัจจุบันยังคงมีการล่าลักษณะนี้หลงเหลืออยู่บ้างในบางสังคม เช่น ชาวอินูเปียต (Inupiat) ในรัฐอลาสก้า เป็นต้น
เมื่อประชากรของโลกมาก ขึ้นรวมไปถึงการล่าวาฬได้รับความนิยมในหลายประเทศ การล่าวาฬจึงไม่จบแค่การล่าไม่กี่ตัวเพื่อเลี้ยงชุมชน แต่กลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ การล่าวาฬเชิงพาณิชย์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นช่วงที่ขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่นต้องออกล่าวาฬเพื่อเป็นอาหารหลัก ถึงขนาดช่วยดัดแปลงเรือเพื่อให้สามารถไปหาอาหารได้ไกลขึ้นกว่าเดิม วาฬจึงกลายมาเป็นอาหารที่ถูกรับประทานในวงกว้างในสังคมญี่ปุ่นช่วงฟื้นฟูประเทศ จึงทำให้คนญี่ปุ่นผูกพันกับการกินเนื้อวาฬ ทำให้จำนวนของวาฬลดน้อยลงเรื่อย ๆ ตามลำดับ
ปัจจุบันการล่าวาฬจึงเป็นที่ถกเถียงกันโดยหากมองในเชิงอนุรักษ์ การล่าวาฬก็เป็นสิ่งที่กำลังทำลายธรรมชาติ แต่ขณะเดียวกันก็ยังเป็นรากวัฒนธรรมของสังคม ตลอดจนช่วยพัฒนาและฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจในหลายประเทศเช่นกัน จึงมีการจัดตั้งองค์กร International Whaling Commission (IWC) ขึ้น เพื่อออกกฎหมายและควบคุมการล่าวาฬ ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อควบคุมการล่าวาฬ (International Convention for the Regulation of Whaling) โดยจะจำกัดจำนวนการล่าวาฬ ซึ่งเน้นการล่าเพื่อไว้ใช้ในการวิจัยและทางวิทยาศาสตร์ มากกว่าการบริโภคหรือใช้ในการพาณิชย์ทั่ว ๆ ไป ปัจจุบันมีหลากหลายประเทศที่เข้าร่วมและยอมรับหน่วยงานนี้ แต่ด้วยเหตุผลทางการเมืองทำให้หลายประเทศมีข้อพิพาทกับ IWC อยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งมูลค่าที่ได้จากอุตสาหกรรมนี้มีมูลค่ามหาศาล จึงไม่สามารถควบคุมการล่าวาฬได้อย่างเต็มที่
เทศกาลลอยกระทง
ในประเทศไทยวันลอยกระทง วันเพ็ญเดือนสิบสอง ความเชื่อที่ตามมาด้วยซากกระทงมากมายในแม่น้ำลำคลอง แม้ว่ากระทงที่พบว่านิยมนำมาใช้ในเทศกาลลอยกระทงจะเป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ 95% และกระทงจากโฟม จำนวน 5% แต่ทุกปีปริมาณกระทงก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยการทดสอบในสภาพน้ำบ้านเรา พบว่า กระทงใบตองรักษาสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพราะย่อยสลายใช้เวลาและสามารถเก็บทันได้ กระทงที่ทำจากขนมปัง แม้ย่อยสลายไว แต่หากปลากินไม่ทันเพิ่มความเน่า และยากต่อการเก็บอาจเป็นการเพิ่มความเน่าแหล่งน้ำได้ โดยเฉพาะที่น้ำไม่ไหล นอกจากนี้สีสันของสารเคมีจากขนมปังอาจเป็นพิษได้ด้วย กระทงที่ทำจากเปลือกผลไม้จะเน่าไวและอุ้มน้ำ ยากต่อการเก็บ ส่วนกระทงโฟม แม้จะเก็บง่าย แต่ย่อยยาก ไม่เหมาะกับแหล่งน้ำเปิด ส่วนกระทงน้ำแข็ง หากมีปริมาณกระทงลอยมากๆ ในพื้นที่น้ำไม่มาก ก็จะทำให้น้ำเย็นเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำได้ ซึ่งโดยทั่วไปยังไม่พบว่าเป็นปัญหา
เรื่องการตกแต่งกระทงจึงเน้นให้มีการใช้วัสดุธรรมชาติในปริมาณที่เหมาะสม งดพลาสติก เพราะย่อยยากเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและเป็นปัญหาหลักของภูมิภาคและของโลก โดยหากเล็ดลอดในทะเลจะต้องใช้เวลาย่อยสลายนานกว่า 450 ปี ทั้งพลาสติกและไมโครพลาสติก หรือนาโนพลาสติก สะสมในทะเล มีผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหากกินสิ่งเหล่านี้ไป ดังนั้นการเลือกกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ลดปริมาณกระทงยังถือเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรคำนึงถึงความเชื่อที่เคียงคู่ไปกับการรักษ์โลกต่อไป
อ้างอิง
https://blog.pttexpresso.com/
http://www.thealami.com/
https://www.facebook.com/42504097684207
https://www.facebook.com/42489844552299
https://www.bangkokbiznews.com/
https://positioningmag.com/
https://isecosmetic.com/wiki/โฮลี
https://www.facebook.com/42833818651235
https://shortrecap.co/