เมื่อประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคระบบขนส่งพลังงานไฟฟ้า
หนึ่งในสาเหตุหลักของปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 และสภาวะโลกร้อนจากก๊าซเรือนกระจก มาจากไอเสียเครื่องยนต์ที่มีการเผาไหม้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง เพื่อลดปัญหามลภาวะและลดสภาวะโลกร้อน เริ่มมีการนำยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ามาใช้มากขึ้น จากข้อได้เปรียบที่เหนือยานยนต์ปกติ ทั้งในด้านการรักษาสภาพแวดล้อม ประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่าย การทำงานที่เงียบและมีอัตราเร่งเริ่มต้นที่ดีกว่า ทั้งยังกำลังได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐและภาคธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติมาตรการส่งเสริมให้เกิดการผลิตและใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ใช้งบประมาณจากรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน/จำเป็น หรืองบกลางประจำปี 2565 วงเงิน 3,000 ล้านบาท ให้กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ดำเนินการใช้ สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับรถยนต์ในกลุ่มราคาขายปลีกต่ำกว่า 2 ล้านบาท ลดภาษีอากรขาเข้าสูงสุด 40% ลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เป็น 2% และให้เงินอุดหนุนแก่บริษัทรถยนต์ที่ทำสัญญาร่วมกับกรมสรรพสามิต 70,000 บาทในกลุ่มที่ใช้แบตเตอรี่ต่ำกว่า 30 kWh และ 150,000 บาท สำหรับรถยนต์ที่มีราคาขาย 2-7 ล้านบาท ลดอากรขาเข้าสูงสุด 20% ลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เป็น 2% สำหรับรถกระบะ ลดภาษีสรรพสามิตเป็น 0% ให้เงินอุดหนุนแก่บริษัทที่ขาย 150,000 บาท สำหรับรถจักรยานยนต์ที่ราคาขายปลีกไม่เกิน 150,000 บาท ได้รับเงินอุดหนุน 18,000 บาทต่อคัน คาดว่าหลังจากได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ ค่ายรถต่างๆ เริ่มทยอยออกโปรโมชั่นราคาพิเศษของรถไฟฟ้ารุ่นต่างๆ ตั้งแต่เดือนมีนาคม
สำหรับภาคธุรกิจ บริษัทผู้ผลิตต่างๆ ล้วนมีแนวทางที่จะพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าออกมาขายมากขึ้น เช่นบริษัทรถชื่อดังจากประเทศสวีเดนอย่าง Volvo ออกมาประกาศแผนธุรกิจว่าจะเลิกผลิตรถยนต์ประเภทใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันแล้วหันมาผลิตรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวในปี 2030 ส่วนในประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) PTT ได้มีการร่วมทุนกับบริษัทสัญชาติไต้หวันอย่าง Foxconn จัดตั้งบริษัทผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในไทย นอกจากการผลิตรถแล้วภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องก็กำลังได้รับการวางรากฐานเพื่อรองรับความต้องการใช้รถไฟฟ้าที่กำลังเติบโตขึ้น เช่น บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR วางแผนติดตั้ง DC Fast Charger 7,000 จุด และทำให้ศูนย์บริการยานยนต์ Fit Auto ที่ตั้งอยู่ในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. สามารถซ่อมบำรุงและดูแลรักษารถไฟฟ้าได้ทุกสาขา และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ก็ได้พัฒนาแบตเตอรี่แบบเทคโนโลยี Semi-solid ที่ปัจจุบันกำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) ต่อปี และมีแผนที่จะขยายไปถึง 10 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ภายใน10 ปีข้างหน้า
นอกเหนือจากรถไฟฟ้าที่เราคุ้นเคยกันดี ขณะนี้เริ่มมีการนำยานยนต์ไฟฟ้าอื่นๆมาใช้ในระบบขนส่งสาธารณะด้วย เช่น เรือไฟฟ้าคลองแสนแสบ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดคลื่นน้อย เสียงเบา ให้บริการทุกวัน ครอบคลุมพื้นที่ถึง 9 ท่าเทียบเรือ ช่วงวัดศรีบุญเรือง-มีนบุรี เรือไฟฟ้าแม่น้ำเจ้าพระยา MINE smart ferry ที่ให้บริการตั้งแต่ท่าสาทรถึงนนทบุรี/ พระนั่งเกล้า ในระดับองค์กร มีการใช้รถโดยสารพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้รับส่งในหน่วยงานของ ปตท. และกระทรวงพลังงาน ‘e-Bus’ ที่ถูกพัฒนาโดยบริษัทในเครือ ปตท. อย่างบริษัท อรุณ พลัส จำกัด ที่ผลิตภายในประเทศทั้งหมด โดยมีแผนที่ให้บริการแบบครบวงจร ผลิต ประกอบ จัดจำหน่าย รวมถึงบริการหลังการขายให้กับหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน ทั้งในและนอกประเทศต่อไป
อ้างอิง
http://www.eppo.go.th/index.php/th/
https://www.bangkokbiznews.com/988411
https://www.thairath.co.th/2322467
https://thestandard.co/
https://www.bangkokbiznews.com/990946
https://www.bangkokbiznews.com/969560
https://www.thansettakij.com/513728
https://www.prachachat.net/news-850119
http://www.eppo.go.th/
https://www.bangkokbiznews.com/988411
https://www.thairath.co.th/2322467
https://thestandard.co/volvo-stop-producing-combustion-cars/
https://www.thansettakij.com/513728
https://www.prachachat.net/economy/news-850119