จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อโลกร้อนขึ้น 2 องศา
ในปี 2015 ที่งานประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of the Parties/COP) ครั้งที่ 21 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ประเทศต่างๆ รวมถึง 197 ประเทศ ได้ตกลงที่จะร่วมมือกัน รักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรมที่มีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการตั้งโรงงานที่ผลิตก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากออกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยภาคีประเทศที่ร่วมลงนามจะพยายามลด กิจกรรมที่ทำให้เกิดโลกร้อนเพื่อรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้อยู่ในช่วงที่สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเทียบกับยุค ก่อนอุตสาหกรรม (ปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นจากช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมประมาณ 1 องศาเซลเซียส) ข้อตกลงนี้ มีชื่อว่า ‘ข้อตกลงปารีส’ (the Paris agreement 2015)
แล้วทำไมต้องห้ามเกิน 2 องศาเซลเซียส? เพียงครึ่งองศาที่แตกต่างกันระหว่าง 1.5 กับ 2 องศาเซลเซียสส่งผลกระทบต่อโลกต่างกันแค่ไหน? จากรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change/IPCC) ของสหประชาชาติ ได้คาดการณ์ความแตกต่างไว้ในหลายหัวข้อ เช่น
ผลกระทบต่อระบบนิเวศแนวปะการัง: หากอุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส แนวปะการังโลกจะหายไป 70-90% แต่หากอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียส หรือมากกว่า แนวปะการังทั่วโลกจะตายเกือบทั้งหมด (มากกว่า99%) ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งจะเสียหายแบบแก้ไขฟื้นฟูไม่ได้
ผลกระทบต่อนํ้าแข็งในมหาสมุทรอาร์กติก: หากอุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ในช่วงทุก 100 ปี นํ้าแข็งใน มหาสมุทรอาร์กติกอาจละลายจนหมดในช่วงฤดูร้อน แต่หากอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียส หรือมากกว่า การละลายจน หมดของนํ้าแข็งจะเกิดขึ้นในช่วงทุกๆ 10 ปี
ผลกระทบต่อการเกิดปรากฏการณ์คลื่นความร้อน: ในช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2021 ที่ผ่านมาเกิดคลื่นความร้อนใน แถบอเมริกาเหนือเป็นเวลา 5 วัน อากาศร้อนถึง 48 องศาเซลเซียส ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 600 คน และสร้างความเสียหาย ทางเศรษฐกิจประมาณ 55.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หากอุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส จำนวนประชากรโลกที่ต้อง เผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรงในช่วงระยะเวลา 5 ปี คือประมาณ 14% แต่หากอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียส หรือ มากกว่าจำนวนผู้ได้รับผลกระทบจะมากขึ้นกว่าเท่าตัวคือราว 37%
สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ช่วงอากาศร้อนจัดจะเกิดบ่อยขึ้น 223% และเกิดบ่อยขึ้น 635% เมื่ออุณหภูมิของโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส
ผลกระทบต่อการเกิดฝนตกหนัก: เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส โอกาสฝนตกหนักจะเกิดบ่อยขึ้น 17% ทั่วโลก และ 22% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่หากอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียส โอกาสฝนตกหนักจะเกิดบ่อยขึ้น 36% ทั่วโลก และ 47% ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าจะทำให้จำนวนประชากรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมบริเวณ ริมฝั่งแม่น้ำในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 129% เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส และ 167% เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส
เพื่อให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่เพิ่มขึ้นเกิดเป้าหมายที่กำหนด นานาชาติต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเกิด จากกิจกรรมของมนุษย์ลงให้ได้ 45% ภายในปี 2030 เพื่อช่วยในภารกิจสำคัญของมนุษยชาติที่จะป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ย โลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเปรียบเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตั้งเป้าหมายจะลด การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ปตท. ทั้งในและต่างประเทศลง 15% ให้ภายใน 10 ปี (เริ่มตั้งแต่ปี 2020 ถึงปี 2030) นอกจากนี้กลุ่มปตท.ยังจัดตั้งคณะทำงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์: PTT Group Net Zero Task Force หรือ G-NET ที่มีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องของกลุ่ม ปตท. ทั้งในและต่างประเทศให้ได้มากที่สุด โดยตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050)
อ้างอิง
https://www.greennetworkthailand.com/
interactive.carbonbrief.org
thestandard.co
prachatai.com
www.pttplc.com
www.pttep.com