PTT Group Sharings
26 พฤษภาคม 2565

Climate Education ปลูกฝังสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ในห้องเรียน

อากาศหนาว ลมเย็นในหน้าร้อน หิมะถล่มผิดฤดู น้ำแข็งขั้วโลกที่ละลายเร็วผิดปกติ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ทุกคนตระหนักได้ว่าชีวิตและสิ่งแวดล้อมไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ทำให้ระบบการศึกษาทั่วโลกต้องเพิ่มเนื้อหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปในหลักสูตร องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ร่วมกับรัฐบาลประเทศเยอรมนีจัดการประชุมระดับโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (UNESCO World Conference on Education for Sustainable Development: ESD) และได้รับรองปฏิญญาเบอร์ลินว่าด้วยการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Berlin Declaration on Education for Sustainable Development (ESD) ซึ่งเรียกร้องให้ ESD อยู่ในหลักสูตรการศึกษาทุกระดับทั่วโลกภายในปี 2025 โดยมีความหวังเพื่อให้การศึกษาเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและมุมมองของเด็กและเยาวชนเพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่กำลังคุกคามทุกชีวิตบนโลก

การปรับเปลี่ยนการศึกษาถือเป็นอีกทางที่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศครั้งสำคัญ เพราะการศึกษาด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Education) ช่วยสร้างความเชื่อมโยงระหว่างตัวผู้เรียนและปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ช่วยสร้างความรู้สึกว่าผู้เรียนมีพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงจนนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการตัดสินใจในชีวิตประจำวันของเด็กและเยาวชนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น งานวิจัยเมื่อปี 2020 แสดงให้เห็นว่า หากนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ระดับสูงและระดับปานกลางเพียง 16% ได้เรียนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมบนโลกลงไปได้เกือบ 19 กิกะตัน

ระบบการศึกษาเยอรมัน ใช้เวลามาถึง 17 ปีในการขับเคลื่อนให้เรื่อง “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” กลายมาเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของระบบการศึกษาเยอรมัน โดยระบบการศึกษาของประเทศเยอรมัน ไม่ได้มีหลักสูตรที่กำหนดโดยรัฐบาลกลางแบบ แต่ละรัฐจะกำหนดแนวทางการเรียนการสอนขึ้นมาโดยมีในกรอบของการศึกษาแนวคิดแบบยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมที่ผนวกเข้ากับรายวิชาอื่น การเรียนไม่ได้เพียงสอนให้เข้าใจว่าภาวะโลกร้อนคืออะไร แต่ยังกระตุ้นให้คิดว่าจะร่วมกันรับผิดชอบแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เผชิญอยู่อย่างไร

ในอิตาลี ตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2020 นักเรียนทุกระดับชั้น ตั้งแต่อายุ 6-19 ปี ในทุกโรงเรียนจะได้เรียนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในวิชาหน้าที่พลเมือง ทำให้อิตาลีกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่มีการเรียนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวิชาบังคับ โดยจะมีชั่วโมงเรียนเรื่องนี้ประมาณหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ และยังมีเนื้อหาที่สอดแทรกเข้าไปในวิชาเรียนปกติ เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และภูมิศาสตร์ด้วย

ในนิวซีแลนด์ทุกโรงเรียนได้ใส่เนื้อหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปในหลักสูตรระดับมัธยมศึกษา แต่ยังไม่ได้กำหนดเป็นวิชาบังคับ โดยเนื้อหาส่วนนี้เขียนขึ้นโดยหน่วยงานวิทยาศาสตร์ชั้นนำของประเทศ ครอบคลุมการนำเสนอเครื่องมือให้นักเรียนใช้วางแผนการเคลื่อนไหวเพื่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงการสำรวจปรากฏการณ์ eco-anxiety ความวิตกกังวลที่มาจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในหมู่วัยรุ่น

อาร์เจนตินาและเม็กซิโก ซึ่งรัฐบาลทั้งสองประเทศกำลังเดินหน้าเพื่อบรรจุการเรียนหัวข้อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ามาในหลักสูตรภาคบังคับในโรงเรียน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2021 ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรของอาร์เจนตินาได้ลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ในการอนุมัติร่างกฎหมายซึ่งกำหนดให้ต้องมีการสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ รัฐบาลเม็กซิโกได้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประเด็นความเข้าใจและความเคารพโลกธรรมชาติเป็นข้อกำหนดขั้นพื้นฐานในการศึกษาตั้งแต่เมื่อปี 2019 และปัจจุบันอยู่ระหว่างการร่างกฎหมายการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ ที่จะกำหนดให้การศึกษาด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเป็นหัวข้อบังคับในทุกโรงเรียนของเม็กซิโก

ในฝรั่งเศส กำลังมีการอภิปรายกฎหมายว่าด้วยสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ ที่มีแผนจะแก้ไขหลักสูตรการศึกษา ด้วยการเพิ่มข้อกำหนดในการเรียนเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไป เช่นกัน

ประเทศอังกฤษ North of Tyne ภูมิภาคทางตอนเหนือของอังกฤษ มีโครงการเพิ่ม วิชาสภาวะโลกร้อน ในหลักสูตรการเรียนการสอนของระดับชั้นประถมและมัธยม เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกและสร้างความเข้าใจต่อปัญหาสภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นโครงการ educate global ที่รับรองจากสหประชาชาติ วิชาสภาวะโลกร้อน มีแกนหลักเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว สุขภาพ การเงิน รวมไปถึงเรื่องการเจรจาระหว่างประเทศ และยังมีการผลักดันให้ทุกโรงเรียนในอังกฤษ มีการเรียนการสอนวิชาสภาวะโลกร้อนอีกด้วย

กระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทยเองก็ได้รับการเสนอจากนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมไทยวัย 12 ขวบ น้องระริน สถิตธนาสาร ให้มีวิชา Eco Education เป็นวิชาบังคับในหลักสูตรทุกระดับชั้น ที่เกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ เทคโนโลยี สังคม การเมือง เศรษฐกิจ ที่เชื่อมโยงกันเพื่อความยั่งยืน โดยก่อนหน้านี้กระทรวงศึกษาธิการ ก็มีแนวคิดเกี่ยวกับหลักสูตรแยกประเภทขยะพลาสติกและผลกระทบในโรงเรียน

เมื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมแยกออกจากกันไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงกลายเป็นหนึ่งปัจจัยที่เปลี่ยนรูปแบบของระบบการศึกษาทั่วโลก การเพิ่มเนื้อหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปทั้งในหลักสูตรจะช่วยเพิ่มโอกาสในการต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศครั้งนี้โดยมีเด็กและเยาวชนเป็นผู้ขับเคลื่อนที่สำคัญ เพื่อการเตรียมพร้อมที่จะป้องกันและเผชิญกับวิกฤตการณ์นี้ ที่จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต ทั้งคนรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นใหม่จึงต้องจับมือกันเพื่อปลุกจิตสำนึกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ตอนนี้และต้องเร่งมือทำอย่างเร่งด่วนแข่งกับเวลา ก่อนที่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในครั้งนี้จะรุนแรงเกินแก้ไข

อ้างอิง
www.sdgmove.com
www.scg.com
ngthai.com
workpointtoday.com
facebook.com/environman.th/
www.theguardian.com
www.sdgmove.com
www.earthday.org

หัวข้อที่น่าสนใจ