PTT Group Sharings
19 สิงหาคม 2564

ตลาดรถพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย

รถ EV ย่อมาจาก Electric Vehicle หรือที่เราเรียกว่า รถยนต์พลังงานไฟฟ้า คือ รถยนต์ที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อนเครื่องยนต์ โดยลักษณะของรถยนต์ EV จะแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. รถยนต์ EV แบบไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle : HEV) เป็นรถยนต์ที่ใช้ทั้งพลังงานเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้า โดยพลังงานไฟฟ้าจะถูกกักเก็บไว้ในแบตเตอรี่รถยนต์ รถยนต์ EV แบบไฮบริดจะมีอัตราการสิ้นเปลืองของเชื้อเพลิงต่ำกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงอย่างเดียว โดยรถยนต์ EV แบบไฮบริดจะมีแบตเตอรี่ไฮบริดคอยทำหน้าที่เป็นอีกหนึ่งแหล่งพลังงานนอกเหนือจากการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิง โดยที่พลังงานในแบตเตอรี่นั้นได้มาจากพลังงานในการขับเคลื่อนรถยนต์เท่านั้น

2. รถยนต์ EV แบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle : PHEV) เป็นรถยนต์ EV ที่มีความคล้ายคลึงกับรถยนต์ EV แบบไฮบริด คือ เป็นการผสมผสานระหว่างการใช้พลังงานเชื้อเพลิงและการใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน แต่จะมีข้อแตกต่างกันที่ต้นกำเนิดของพลังงานไฟฟ้าหรือวิธีผลิตพลังงานไฟฟ้าให้แก่แบตเตอรี่ รถยนต์ EV แบบปลั๊ก-อิน ไฮบริดสามารถเสียบปลั๊กชาร์จไฟให้แก่แบตเตอรี่ไฮบริดของเครื่องยนต์ได้ จึงเป็นเหตุผลที่เราเรียกรถยนต์ไฮบริดประเภทนี้ว่า Plug-in Hybrid Electric Vehicle และแน่นอนว่ารถยนต์ EV แบบปลั๊ก-อิน ไฮบริดนั้นประหยัดเชื้อเพลิงที่มากกว่ารถยนต์ EV แบบไฮบริดทั่วไปเพราะสามารถชาร์จไฟเพื่อกักเก็บพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้งานได้ตามต้องการ

3. รถยนต์ EV แบบใช้แหล่งพลังงานไฟฟ้าอย่างเดียวในการขับเคลื่อน (Plug-in Electric Vehicles : PEVs) รถยนต์ประเภทนี้จะมีความคล้ายคลึงกับรถยนต์ EV แบบปลั๊ก-อิน ไฮบริดตรงที่สามารถชาร์จพลังงานไฟฟ้าให้แก่แบตเตอรี่รถยนต์ได้ และรถยนต์ประเภทนี้จะมีแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่เนื่องจากรถยนต์ EV แบบใช้แหล่งพลังงานไฟฟ้าอย่างเดียวในการขับเคลื่อนต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เพื่อขับเคลื่อนเครื่องยนต์เท่านั้น ไม่มีการใช้เชื้อเพลิงอื่น ๆ ร่วมในการขับเคลื่อนหรือเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานให้แก่เครื่องยนต์ และเป็นที่แน่นอนว่ารถยนต์ประเภทนี้เป็นรถยนต์ที่มีความประหยัดสูงสุดเนื่องจากใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนเพียงอย่างเดียว

ในปัจจุบันทั่วโลกมีความพยายามในการพัฒนารถยนต์ EV ทั้งแบบไฮบริดและแบบใช้พลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวเพื่อลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงที่กำลังจะหมดไปในอนาคต รวมถึงช่วยรักษาสภาพแวดล้อมของโลกใบนี้อีกด้วย เดิมทีแล้วรถยนต์ EV ไม่ได้เพิ่งถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้ หากแต่มีแนวคิดเกี่ยวกับรถยนต์ EV ตั้งแต่ช่วงปีคริสตศักราชที่ 1890 ถึงต้นปีคริสตศักราชที่ 1900 ณ ประเทศอังกฤษ โดยโธมัส พาร์คเกอร์ นักประดิษฐ์, วิศวกรไฟฟ้าและนักอุตสาหกรรม เจ้าของสิทธิบัตรการปรับปรุงในแบตเตอรี่ตะกั่วกรดและไดนาโม ผู้บุกเบิกการผลิตอุปกรณ์ที่ขับเคลื่อนรถรางไฟฟ้าและไฟฟ้าแสงสว่าง ผู้คิดค้นเชื้อเพลิงไร้ควัน ถ่านหิน แต่เนื่องด้วยคุณภาพและคุณสมบัติของรถยนต์ EV ที่ถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงปีคริสตศักราชที่ 1890 ถึงต้นปีคริสตศักราชที่ 1900 เรียกได้ว่ายังไม่ดีเท่าที่ควร ผู้คนมีทางเลือกอื่นที่สะดวกกว่าการเลือกใช้รถยนต์ EV รถยนต์ EV ในยุคนั้นจึงไม่ค่อยมีบทบาทในการนำใช้งานเพื่อการเดินทางและการขนส่งเท่าใดนัก จนกระทั่งปี 1947 กระแสรถยนต์ EV ก็เริ่มกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งเนื่องจาก ณ เวลานั้น ผู้คนประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำมัน จึงเริ่มหันมาพึ่งพารถยนต์ EV แทน จนกระทั่งในปัจจุบันก็ได้มีความพยายามพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้อย่างจริงจังด้วยเหตุผลหลัก ๆ คือ ช่วยลดการใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงและช่วยรักษาสภาพแวดล้อม

รถยนต์ EV อาจดูเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับคนไทยบางส่วน แต่ในความเป็นจริงแล้วประเทศไทยเริ่มมีการนำรถยนต์ EV มาใช้มาเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปีแล้ว เช่น โตโยต้า พริอุส หนึ่งในรถยนต์ EV แบบไฮบริดที่เป็นที่นิยมและเป็นที่รู้จักมากที่สุดรุ่นหนึ่งในประเทศไทย และในปัจจุบันเริ่มมีค่ายรถยนต์และผู้ผลิตหลายบริษัทเดินหน้าโครงการผลิตและวางจำหน่ายรถยนต์ EV ในประเทศไทย ส่วนใหญ่แล้วรถยนต์ EV ในประเทศไทยที่ผ่าน ๆ มามักจะเป็นรถยนต์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศจึงทำให้มีราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องด้วยภาษีของรถยนต์นำเข้าที่มีมูลค่าที่สูงมากเกินไป คนบางส่วนจึงไม่สามารถเข้าถึงรถยนต์ EV เหล่านี้ได้ ทำให้ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ทั้งหลายในไทยได้เร่งมือผลิตและพัฒนารถยนต์ EV เอง เพื่อให้มีราคาที่ถูกลงและไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ด้วยเหตุนี้ประชาชนทั่วไปจึงมีกำลังทรัพย์พอที่จะสามารถซื้อรถยนต์ EV มาใช้งานได้ และเมื่อไม่นานมานี้ก็ได้มีการเปิดตัวจำหน่ายรถยนต์ EV หลายรุ่นที่ผลิตในไทย เช่น Takano รุ่น TTE500, Fomm รุ่น One, MG รุ่น EP และ MG รุ่น ZS EV โดยทางค่ายรถยนต์ EV คาดหวังว่ารถยนต์เหล่านี้จะได้รับกระแสตอบรับและยอดจองรถยนต์ที่ดีจากผู้บริโภคเนื่องด้วยราคาที่ไม่สูงจนเกินไป อีกทั้งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย และทางหลาย ๆ ค่ายรถยนต์ในประเทศไทยเองก็มีความคาดหวังที่จะผลิตและจำหน่ายรถยนต์ EV มากขึ้นทั้งรถยนต์ประเภทไฮบริด รถยนต์ประเภทปลั๊ก-อิน ไฮบริด และรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งในขณะนี้ยังเป็นแค่ช่วงแรกเริ่มในการพัฒนาของรถยนต์ EV ที่ผลิตในไทย ดังนั้นอาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีเพื่อผลิต พัฒนาและทำตลาดรถยนต์ EV ที่ผลิตในประเทศไทยให้มีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้นสำหรับผู้บริโภค และอาจใช้เวลามากกว่า 10 ปีเพื่อแสดงให้ผู้คนเห็นถึงข้อดีของรถยนต์ EV และเปลี่ยนใจผู้ขับขี่ให้หันมาเลือกซื้อรถยนต์ EV แทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง โดยที่ประเทศไทยเองตั้งเป้าที่จะกลายเป็นหนึ่งในฐานผลิตรถยนต์ EV ที่สำคัญของโลกในอนาคตเพื่อส่งออกรถยนต์ EV ไปจำหน่ายทั่วโลก

หนึ่งในหัวใจสำคัญและถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ใช้ในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์ระบบพลังงานไฟฟ้า คือ แบตเตอรี่ของรถ EV เพราะพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนรถยนต์ EV จะมาจากแบตเตอรี่และจะถูกกักเก็บไว้ในแบตเตอรี่เพื่อใช้งาน ในประเทศไทยมีผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ EV 4 บริษัท ได้แก่ Energy Absolute Company, Banpu Power Public Company Limited, BCPG Public Company Limited และ Global Power synergy Company Public Limited โดยที่ผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ EV ทั้ง 4 บริษัทนี้นับเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่ผลิตแบตเตอรี่เพื่อจำหน่ายให้แก่บริษัทคู่ค้าในประเทศและต่างประเทศ เช่น Global Power synergy Company Public Limited หนึ่งในผู้พัฒนาแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ EV และสถานีบริการชาร์จแบตเตอรี่พลังงานไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการลงนาม MOU กับบริษัทในกล่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยทั้ง 9 บริษัท เพื่อพัฒนาต้นแบบชุดแบตเตอรี่และระบบสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping System) ที่ใช้เทคโนโลยี Semi-Solid ของ GPSC หรือ G-Cell มาต่อยอดพัฒนาชุดแบตเตอรี่ (Common Battery Pack) โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะนำมาใช้งานกับยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ เช่น รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า และรถยนต์ EV เทคโนโลยีนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเพิ่มประสิทธิในการใช้งาน เพิ่มความปลอดภัย มีการระบายความร้อนที่ดีขึ้นและลดเวลาในการชาร์จพลังงานไฟฟ้า และยังช่วยเพิ่มความสะดวกสบายสำหรับการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ในสถานีบริการชาร์จแบตเตอรี่พลังงานไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย โดยโครงการนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะแรก คือ การศึกษาเพื่อพัฒนาต้นแบบของแบตเตอรี่และระบบสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ เพื่อนำความรู้ที่ได้จากการศึกษานี้ไปทดลองหรือวิจัยในขั้นตอนถัดไป ระยะที่ 2 คือ การนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยระยะแรกมาพัฒนาควบคู่กับเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้และพัฒนาสถานีการเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่สถานีชาร์จไฟฟ้า (Battery Swapping Station) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และระยะที่ 3 คือ การนำเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นมาไปหารือถึงความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีนี้ไปจัดจำหน่ายในเชิงพานิชย์เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมมีความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีและถือเป็นการส่งเสริมการผลิตและพัฒนารถยนต์ EV เพื่อจัดจำหน่ายอีกด้วย

ที่มา: https://www.facebook.com/CareShareAndRespect/posts/4067026643409704

หัวข้อที่น่าสนใจ