PTT Group Sharings
06 กันยายน 2564

มาตรฐาน EIA คืออะไร

EIA หรือ Environmental Impact Assessment คือ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่ง EIA นั้นมีไว้เพื่อประเมินและศึกษาผลกระทบทั้งข้อดีและข้อเสียจากโครงการพัฒนาที่จะมีต่อสุขภาพหรือความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความเสี่ยงที่จะมีผลต่อสภาพความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อธรรมชาติ ซึ่งอาจนำไปสู่ภัยพิบัติต่อสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงก็เป็นได้ โดยที่เรายังทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อกำหนดมาตรการต่างๆ ที่ใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและใช้ในการประกอบการตัดสินใจพัฒนาโครงการอีกด้วย

โดยทั่วไปแล้วผู้คนมักจะพบเจอหรือเคยได้ยินเกี่ยวกับ EIA มาจากโครงการบ้านจัดสรร คอนโด หรือโครงการพัฒนาต่างๆที่เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้าง ที่อยู่อาศัยหรืออสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น แต่อันที่จริงแล้วมีโครงการพัฒนาหลากหลายประเภทที่ต้องมีการทำ EIA เช่น

  • โครงการเหมืองแร่
  • โครงการพัฒนาปิโตรเลียม
  • โครงการระบบขนส่งปิโตรเลียมและน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อ
  • นิคมอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วย การนิคมอุตสาหกรรม หรือโครงการที่มี ลักษณะเช่นเดียวกับนิคมอุตสาหกรรม หรือโครงการจัดสรรที่ดินเพื่อการ อุตสาหกรรม
  • อุตสาหกรรมปิโตรเคมี
  • อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม
  • อุตสาหกรรมแยกหรือแปรสภาพก๊าซธรรมชาติ
  • อุตสาหกรรมคลอร์-แอลคาไล (chloralkali industry) และอุตสาหกรรมที่ใช้ คลอรีน (CL2 ) หรือไฮโดรเจนคลอไรด์ (HCL)
  • ผลิตปูนซีเมนต์
  • อุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษ
  • อุตสาหกรรมที่ผลิตสารออกฤทธิ์ หรือ สารที่ใช้ป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชหรือ สัตว์โดยใช้กระบวนการทางเคมี
  • อุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยเคมีโดยกระบวนการ ทางเคมี
  • อุตสาหกรรมประกอบกิจการเกี่ยวกับน้ำตาล
  • อุตสาหกรรมเหล็กหรือเหล็กกล้า
  • อุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่ หรือหลอมโลหะ ซึ่งมิใช่อุตสาหกรรมเหล็กหรือเหล็กกล้า
  • อุตสาหกรรมผลิตสุรา แอลกอฮอล์ รวมทั้งผลิตเบียร์และไวน์
  • โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม หรือโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว
  • โรงไฟฟ้าพลังความร้อนทุกประเภท ยกเว้นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง
  • ระบบทางพิเศษ ตามกฎหมายว่าด้วย การทางพิเศษหรือโครงการที่มีลักษณะ เช่นเดียวกับทางพิเศษ
  • ทางหลวงหรือถนน
  • ระบบขนส่งมวลชนที่ใช้ราง
  • ท่าเทียบเรือ
  • ท่าเทียบเรือสำราญกีฬา
  • การถมที่ดินในทะเล
  • การก่อสร้างหรือขยายสิ่งก่อสร้างบริเวณหรือในทะเล
  • โครงการระบบขนส่งทางอากาศ
  • การจัดสรรที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยหรือเพื่อประกอบการพาณิชย์
  • โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล
  • โรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศ
  • อาคารอยู่อาศัยรวม
  • การชลประทาน
  • โครงการทุกประเภทที่อยู่ในพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้เป็นพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1
  • การผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ
  • ประตูระบายน้ำในแม่น้ำสายหลัก
  • นิคมอุตสาหกรรม
  • การถมทะเล หรือทะเลสาบ นอกแนวเขตชายฝั่งเดิม ยกเว้นการถมทะเลที่เป็นการฟื้นฟูสภาพหาด
  • การผลิต มีไว้ครอบครองหรือใช้ ซึ่งพลังงานปรมาณูจากเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู
  • โครงการระบบขนส่งทางอากาศ
  • เขื่อนเก็บกักน้ำหรืออ่างเก็บน้ำ
  • อุตสาหกรรมผลิตถ่านโค้ก

EIA ศึกษาและวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมด้านใดบ้าง

  1. ทรัพยากรกายภาพ เป็นการศึกษาถึงผลกระทบ เช่น ดิน น้ำ อากาศ เสียง ว่าจะมี การเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
  2. ทรัพยากรชีวภาพ การศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ที่มีต่อระบบนิเวศน์ เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า สัตว์น้ำ ปะการัง เป็นต้น
  3. คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ เป็นการศึกษาถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทั้งทางกายภาพ และชีวภาพของมนุษย์ เช่น การใช้ประโยชน์ที่ดิน
  4. คุณค่าต่อคุณภาพชีวิต จะเป็นการศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อมนุษย์ ชุมชน ระบบเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม รวมถึงทัศนียภาพ คุณค่า ความสวยงาม

EIA สำคัญแค่ไหนและถ้าโครงการไม่ผ่าน EIA จะเป็นอย่างไร

EIA นับเป็นส่วนสำคัญมากสำหรับการขออนญาตเพื่อริเริ่มโครงการต่างๆ เพราะหากโครงการใดทำการประเมิน EIA ไม่ผ่าน ก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้มีการดำเนินการก่อสร้างและไม่สามารถออกใบอนุญาตในการจัดสรรหรือดำเนินโครงการได้ หรือหากเป็นในกรณีที่มีการดำเนินโครงการหรือดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว มีผู้ยื่นคัดค้านผลการประเมินหรือรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการนั้นก็จะต้องหยุดดำเนินการทันที ซึ่งโดยปกติแล้วก่อนโครงการจะเริ่มดำเนินงาน จะต้องมีการจัดทำเอกสารการประเมินผลผลกระทบสิ่งแวดล้อมและรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือ กองวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (กวผ.) เสียก่อน โดยต้องใช้ระยะเวลาในการจัดทำรายงานประมาณ 6 เดือน และหากยื่นรายงานไปแล้วไม่ผ่าน ก็จะไม่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้าง หรือหากยังมีความประสงค์ที่จะดำเนินโครงการต่อ จะต้องทำการแก้ไขและส่งรายงานซ้ำ จนกว่าจะผ่าน

ขั้นตอนการทำรายงาน EIA

  1. เจ้าของโครงการจะต้องทราบก่อนว่าโครงการนั้นจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือไม่
  2. ว่าจ้างที่ปรึกษาที่ขึ้นทะเบียนเป็นนิติบุคคลผู้มีสิทธิทำรายงานฯ
  3. เจ้าของโครงการส่งรายงานให้สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดย สผ. และคณะกรรมการผู้ชำนาญการจะใช้เวลาการพิจารณารายงานฯ ตามขั้นตอนที่กำหนดไม่เกิน 75 วัน แต่หากคณะกรรมการฯ มีข้อเสนอแนะให้แก้ไขเพิ่มเติม ที่ปรึกษาจะต้องใช้เวลาในการปรับแก้ และจัดส่งให้ สผ. และคณะกรรมการฯ พิจารณา ซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน

ในปัจจุบัน ผู้คนมีความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น EIA ก็นับเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญในการช่วยดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อม โดยที่องค์กรต่างๆเองก็ให้ความสำคัญกับการทำ EIA มากขึ้นด้วยเช่นกัน เช่น บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับรางวัลสถานประกอบการที่ปฏิบัติตามมาตรการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมีการจัดการสภาพแวดล้อมดีเด่นประจำปี 2559 (EIA Monitoring Awards 2016) จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากทางกลุ่มบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้มีการจัดทำรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ดีเยี่ยม เป็นที่น่าชื่นชม และถือเป็นการมอบรางวัลให้เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจเพื่อให้มีการจัดการสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง และยังมีอีกหลายโครงการของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ที่ได้มีทำ EIA และผ่านการประเมินก่อนมีการริเริ่ม ดำเนินโครงการ เช่น โครงการปรับปรุงโรงโอเลฟินส์หน่วยที่ 2 ซึ่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากสานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และบริษัทฯ ได้ดำเนินการลงนามสัญญาออกแบบวิศวกรรม การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ การก่อสร้าง (Engineering, Procurement & Construction) แล้วเมื่อในวันที่ 22 มกราคม 64

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า EIA หรือ การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม นั้นมีเป็นอีกหนี่งส่วนสำคัญในการขออนุญาติดำเนินโครงการหรือกิจการต่างๆ เป็นอย่างมาก เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าโครงการหรือกิจการนั้นๆ จะไม่สร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบ และไม่สร้างผลกระทบกับกับประชาชนหรือผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณโดยรอบหรือในชุมชนนั้นๆ และรวมถึงชุมชนใกล้เคียงด้วยเช่นกัน

อ้างอิง
http://www.onep.go.th
https://www.efinancethai.com
https://www.onep.go.th
https://thinkofliving.com
https://www.condonewb.com
https://www.bkkcitismart.com
https://www.pttgcgroup.com

หัวข้อที่น่าสนใจ